ผวจ.ตรังลงนามในประกาศเขตโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือเอเอสเอฟเป็นครั้งแรก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ อ.นาโยง โดยห้ามเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และหมูป่า เข้า-ออกเขตระบาด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พบเชื้อตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ผ่านมามาถึง 17 วัน จึงลงนาม รอซ้ำอีก 4 วันจึงเผยแพร่ต่อสาธารณะ
วานนี้ (30 มี.ค.) จังหวัดตรังออกประกาศเผยแพร่ "กำหนดเขตโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่ารวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ” เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือเชื้อ African Swine Fever virus (ASF) และประกาศเขตระบาดของโรค โดยประกาศดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 25 มี.ค. โดยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง เนื้อหาระบุว่า ตามประกาศจังหวัดตรังเรื่องกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่าลงวันที่ 18 มี.ค. โดยได้กำหนดให้พื้นที่ทุกอำเภอเป็นเขตเฝ้าระวังโรคฯนั้น
เนื่องจากจังหวัดตรังได้รับรายงานผลการตรวจทางไวรัสวิทยาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ ตอนบน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ปรากฏว่าพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ASF จากตัวอย่างเลือดสุกร ในท้องที่ ม.6 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง โดยที่โรคดังกล่าวเป็นโรคระบาดสำคัญในสุกร ติดต่อได้ในสุกรทุกช่วงอายุ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยาในการป้องกันและรักษาโรค กรณีหากมีการระบาดขยายเป็นวงกว้างออกไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมผลิตสุกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจ ตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผวจ.ตรังจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
1.ยกเลิกการกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคเฉพาะพื้นที่ อ.นาโยง ตามที่เคยประกาศ แล้วกำหนดให้ทุกท้องที่ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ใน อ.นาโยง จ.ตรัง เป็นเขตโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในสัตว์ชนิดสุกรและหมูป่ารวมถึงน้ำเชื้อสำหรับผสมพันธุ์และเอ็มบริโอ
2.ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามข้อ 1 เข้าออกหรือภายในเขตโรคระบาดเว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้ายตามมาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สำหรับ จ.ตรัง ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ได้เกิดโรคระบาดทำให้สุกรในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด และพื้นที่ใกล้เคียงตายลงนับพันตัวในช่วงที่เกิดกระแสข่าวการแพร่ระบาดของ ASF ในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดตรังได้เก็บตัวอย่างเลือดสุกรไปตรวจแต่ไม่ยอมเปิดผลผลตรวจว่าสุกรเสียชีวิตด้วยโรคใดพร้อมปฏิเสธว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ใน จ.ตรัง ทำให้ ผวจ.ตรังตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว โดยให้เจ้าหน้าที่จากปศุสัตว์จังหวัดเป็นกรรมการ ผลสอบระบุไม่มีการระบาดของ ASF ใน จ.ตรัง ทำให้เกษตรกรไม่ไดรับการเยียวยาตามมติ ครม.กรณีความเสียหายจาก ASF กระทั่งมีประกาศเขตระบาดของ ASF ฉบับล่าสุดนี้ออกมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า จากเนื้อหาประกาศฉบับดังกล่าวที่ระบุ ได้รับผลตรวจยืนยันพบเชื้อ ASF จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ตอนบน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ถัดมาถึง 17 วัน กระทั่งวันที่ 25 มี.ค. นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา จึงลงนามในประกาศ และกว่าจะมีการเผยแพร่ประกาศเพื่อแจ้งเตือนต่อสาธารณะในเว็บไซต์จังหวัดตรังก็วันที่ 30 มี.ค. ซึ่งหากนับตั้งแต่ทราบผลยืนยันพบเชื้อ กว่าจะแจ้งเตือนต่อสาธารณะ ใช้เวลาถึง 22 วัน ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์รายละเอียดจากนายสุรจิต วิชชุวรรณ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ทางมือถือแต่ติดต่อไม่ได้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
ข่าวเมืองตรัง