กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับเอกชนขึ้นบินสำรวจเกาะต่างๆ ใน อ.กันตัง จ.ตรัง แหล่งอนุรักษ์ “พะยูน” ใหญ่สุดของไทย โดยพบทั้งพะยูน โลมา และเต่าทะเล ที่ว่ายน้ำหากินอย่างมีความสุขจำนวนมากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ร่วมกับศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้ทำการสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายากในทะเลตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) ด้วยเครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และวิธีการสำรวจทางเรือ โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร Mr.Eduado Angelo Loigorri และ น.ส.ภิญญดา ภิธัญสิริ ที่บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ และหมู่เกาะใกล้เคียง ในพื้นที่ อ.กันตัง จ.ตรัง แหล่งอนุรักษ์พะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยทั้งนี้ ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้น พบพะยูน จำนวน 140-170 ตัว ในจำนวนนี้เป็นพะยูนคู่แม่ลูก จำนวน 15-20 คู่ รวมทั้งพบโลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) จำนวน 27 ตัว และเต่าทะเล จำนวน 141 ตัว ซึ่งผลการตรวจสุขภาพ ประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเลอย่างมีความสุข และพบพฤติกรรมการผสมพันธุ์ด้วย นอกจากนี้ยังพบพะยูนคู่แม่ลูกที่แสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนก และเต่าทะเล ซึ่งสุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลจากการสำรวจในครั้งนี้จะนำไปใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณทะเลตรังต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์