กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย 3 มาตรการ เยียวยาสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ สั่งพักหนี้-ลดดอกเบี้ย ช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด 19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
วันที่ 2 เมษายน 2563 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการในการช่วยเหลือความเดือดร้อนเกี่ยวกับหนี้สินของเกษตรกรทั่วประเทศจากโรค COVID-19 ว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ มี 3 แนวทาง เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของสหกรณ์ ได้แก่
1. สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
จะมีมาตรการดังต่อไปนี้
- ขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ ไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระต้นเงิน 3 ปีแรก
- ช่วยเหลือด้านการขอสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี
- หากสหกรณ์ใดมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สามารถติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาที่สหกรณ์กู้ยืมเงิน
2. สหกรณ์ที่เป็นลูกหนี้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.)
- ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อให้ทางสหกรณ์ทำการผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้เงินจากสหกรณ์ออกไป
3. กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
- ขยายเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวสามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก
- ให้งดคิดดอกเบี้ยรวมถึงค่าปรับกับสมาชิกด้วย โดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด
น.ส.มนัญญา ระบุอีกว่า สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นเป็นมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกอยู่ในสหกรณ์ต่าง ๆ ในช่วงที่กำลังมีการระบาดของ โควิด 19 เนื่องจากสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกภาคส่วน โดยเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเร่งด่วนในขณะนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์ทั้งสิ้น 6,579 แห่ง สมาชิกกว่า 11 ล้านคน ได้แก่
- สหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 3,453 สหกรณ์ และมีสมาชิกที่กู้ยืมเงินจากสหกรณ์เพื่อไปประกอบอาชีพทางการเกษตร 1.035 ล้านคน จำนวนเงิน 178,473.04 ล้านบาท ซึ่งเงินที่ให้สมาชิกกู้ยืม ส่วนหนึ่งมาจากทุนของสหกรณ์เอง และบางสหกรณ์กู้ยืมมาจากแหล่งเงินทุนภายนอก ได้แก่ ธนาคาร ธ.ก.ส. กองทุนพัฒนาสหกรณ์ และสถาบันการเงินอื่น
- สหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน บริการ และร้านค้า) จำนวน 3,126 สหกรณ์ มีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 600 แห่ง เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจ สมาชิก 188,700 คน วงเงินกู้ 122,807 ล้านบาท
- สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีจำนวน 36 แห่ง สมาชิก 36,500 คน วงเงินกู้ 600 ล้านบาท
- สหกรณ์เดินรถซึ่งเป็นสหกรณ์บริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีอยู่จำนวน 230 แห่ง สมาชิก 100,207 คน โดยมีวงเงินการให้กู้ยืมแก่สมาชิกรวม 1,444.85 ล้านบาท
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่
ข้อมูลจาก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Tags
ข่าวทั่วทิศ