เกษตรกรตรังหันมาปลูกโกโก้แซมพืชหลัก เชื่ออนาคตตลาดรุ่ง


 เกษตรกรชาวตรังหันมาปลูกโกโก้แซมในสวนยาง สวนปาล์ม รวมทั้งแซมพืชชนิดอื่นๆ หลังมองว่าตลาดมีความต้องการสูง และสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้จำนวนมาก


วันนี้ (12 พ.ย.) จากปัญหาราคายางพาราและพืชผลทางการเกษตรหลายชนิดที่มีความไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตรัง พยายามปรับเปลี่ยนตนเองในการทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกพืชแซมในพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ โดยล่าสุด พบว่าในจังหวัดตรังขณะนี้เกษตรกรกำลังให้ความสนใจในการปลูกโกโก้แซมในพื้นที่สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งแซมพืชชนิดอื่นๆ กันเป็นจำนวนมาก เพราะมองว่าตลาดความต้องการโกโก้มีสูง เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้จำนวนมาก

โดยเฉพาะที่สวนมะละกอ ของ นายสุเทพ เอี่ยมอักษร อายุ 49 ปี เกษตรกรชาวหมู่ที่ 4 ต.ควนเมา อ.รัษฎา จ.ตรัง ก็เป็นอีกแปลงหนึ่งที่หันมาปลูกโกโก้ เพื่อเป็นพืชแซมในสวนยางพารา 3,000 ต้น เพราะมองว่าตลาดกว้างและสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ ได้ เฉพาะในส่วนของตนได้ทำสัญญากับบริษัทในการขายผลผลิตคืน ในราคาขั้นต่ำกิโลกรัมละ 8 บาท เนื่องจากเมื่อโกโก้มีอายุได้ 15 เดือน 7 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้แล้ว ส่วนสาเหตุที่ปลูกเป็นพืชแซม เพราะจะได้ไม่ต้องเปลืองพื้นที่ หรือหากใครมีพื้นที่จำกัดก็จะทำให้ได้ผลผลิตจากพื้นที่เดิมเพิ่มขึ้น

นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของตนเองได้ปลูกโกโก้แซมในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนมะพร้าว และสวนมะละกอ นอกจากนั้น ยังปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวคู่กับกล้วยน้ำว้าอีก 1 แปลง โดยมองว่าปัจจุบันเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรมากขึ้น มองหาพืชชนิดใหม่มาปลูกแซมในพื้นที่เดิม หรือจะเป็นปลูกเป็นเชิงเดี่ยวก็ต้องศึกษา

สำหรับโกโก้เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และพบว่าคนใต้สามารถจะปลูกแซมพืชหลักได้ดี เพราะโกโก้ต้องการความชื้น สภาพอากาศภาคใต้จึงเหมาะมาก และคิดว่าจะให้ผลผลิตให้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้น โกโก้ยังไม่ชอบปุ๋ยเคมี แต่จะใช้ปุ๋ยคอกเพราะจะทำให้ต้นแข็งแรงและเติบโตดี












    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า