ได้เวลาปรับโฉมใหม่จากเรือหัวโทงธรรมดาสู่เรือหัวโทงที่ไม่เหมือนใคร สร้างสีสันเชื่อมท่องเที่ยว


  คนกระบี่จับมือปรับโฉมเปลี่ยนเรือหัวโทงธรรมดาๆ มาเป็นเรือหัวโทงที่ไม่เหมือนใคร สร้างสีสัน กระตุ้นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ชูวิถีชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว

เรือหัวโทง ถือว่าเป็นเรือที่เป็นเอกลักษณ์ในภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทำจากไม้ ส่วนหัวของเรือตั้งโด่งสูง จึงเรียกว่าเรือหัวโทง เดิมเป็นเรือที่ชาวประมงใช้ในการออกจับปลากลางทะเล แต่หลังจากที่การท่องเที่ยวเริ่มเฟื่องฟู ก็ได้มีผู้ประกอบการนำเรือหัวโทงมาดัดแปลงใช้เพื่อการท่องเที่ยวเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เรือหัวโทงที่นำมาใช้บริการนักท่องเที่ยวก็จะเป็นเรือหัวโทงธรรมดาๆ ไม่สวยงาม


แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 หลายหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้จับมือกันปรับโฉมเรือหัวโทงธรรมดาๆ มาเป็นเรือหัวโทงที่ไม่เหมือนใคร โดยกลุ่มศิลปินท้องท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่ ร่วมกันวาดลวดลายเครือ เถาว์ ดอกไม้ ในท้องถิ่นและเติมสีสันให้แก่เรือหัวโทงที่ใช้โดยสารข้ามฟาก และนำเที่ยวในจังหวัดกระบี่ เพื่อแสดงให้เห็นเอกลักษณ์ ของท้องถิ่น รวมทั้งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังกวัดกระบี่ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเรือหัวโทงแต่ละลำจะมีลวดลายและสีสันที่แตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่น เพื่อสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่


นายสุเทพ จันทระ ศิลปินท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การวาดลายเครือเถาว์บนเรือหัวโทงนั้น เกิดจากแนวคิดของกลุ่มศิลปินท้องถิ่นจังกวัดกระบี่ ร่วมกับจังหวัดกระบี่ สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดกระบี่ สภาวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ และ ททท.สำนักงานกระบี่ ว่า จะทำอย่างไรให้เรือหัวโทงนำเที่ยว และเรือประมงของชาวประมงพื้นบ้านให้กลับมามีสีสันแบบร่วมสมัย เพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ จึงได้ลงลวดลาย และลงสีออกมาโชว์เป็นต้นแบบ 1 ลำ ซึ่งเป็นลายดอกไม้ที่ขึ้นในท้องถิ่น ปรากฏว่า เป็นที่ชื่นชอบนักท่องเที่ยว และเป็นการแสดงให้ถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นด้วย หลังจากนั้นก็มีเรือหัวโทงอื่นขอร่วมทำอีกจำนวนหลายลำ ทำให้ขณะนี้มีเรือหัวโทงที่มีการเปลี่ยนโฉมใหม่ออกมาให้บริการนักท่องเที่ยวจำนวนหลายลำแล้ว


ด้านนายอุทิศ ลิ่มสกุล ผอ.ททท.สำนักงานกระบี่ กล่าวว่า ททท.ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการเพื่อปรับโฉมเรือหัวโทง รวมทั้งหมด 32 ลำ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเกาะกลาง อ.เมืองกระบี่ 13 ลำ ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา 7 ลำ ชุมชนบ้านแหลมสัก อ.อ่าวลึก 12 ลำ และชุมชนบ้านไหนหนัง อ.เมืองกระบี่ 2 ลำ สำหรับลวดลายของเรือหัวโทงนั้นจะเป็นลายดอกไม้ที่มีในท้องถิ่น 4 ชนิด ประกอบด้วย ดอกเหร่ ดอกโพธิ์ทะเล ดอกจิก และดอกผักบุ้งทะเล

ส่วนสีของเรือนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของเรือว่าชอบสีอะไร ลวดลาย และดอกไม้แบบไหน จากนั้นศิลปินก็จะดำเนินการวาดลวดลายและลงสี โดยแต่ละลำจะใช้เวลาวาดประมาณ 5 วัน หลังจากนั้น จะได้เรือหัวโทงที่มีสีสันสวยงามออกมาให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ และเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก


นายอุทิศ ยังกล่าวอีกว่า โครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเรือหัวโทง วิถีชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเรือหัวโทงนำเที่ยว หลังวิกฤตโควิด-19 และต้องการสื่อถึงอัตลักษณ์ของเรือหัวโทงให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยการนำเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือที่มีอยู่ในท้องถิ่นโดยผู้ประกอบการในพื้นที่ใช้เป็นเรือบริการนำเที่ยวตามเกาะแก่งทางทะเลของจังหวัดกระบี่ ซึ่งปกติเรือเหล่านี้จะไม่มีสีสัน จึงได้ร่วมกับจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น โดยนำเรือหัวโทงมาทำการวาดลวดลาย ลงสีให้มีสีสันสวยงาม ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และได้นำออกมาโชว์ในเทศกาลยลเมืองศิลปะ กินของหรอย จังหวัดกระบี่ ปีที่ผ่านมา





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์ 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า