ชื่นชม! 2 ชาวบ้านตรังปลูกหญ้าทะเลด้วยสองมือ ฟื้นฟูธรรมชาตินานกว่า 10 ปี


  ชื่นชม 2 ชาวบ้านบ้านเจ้าไหม-หาดยาว อ.กันตัง จ.ตรัง ช่วยกันปลูกหญ้าทะเลด้วยสองมือเปล่า โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยวิธีกางมุ้ง เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติมาตลอดกว่า 10 ปี จนทำให้หญ้าทะเลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น


วันนี้ (14 ก.พ.) นายยาเหตุ หะหวา พร้อมด้วย นายวิโรจน์ เบ็ญหมูด 2 ชาวบ้านบ้านเจ้าไหม-หาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวดูวิธีการปลูกหญ้าทะเลด้วยสองมือเปล่า โดยวิธีกางมุ้ง บริเวณทะเลหน้าหมู่บ้าน ซึ่งเริ่มจากการออกไปเก็บลูกหญ้าทะเลมาแช่น้ำ 1 คืน เมื่อเปลือกกะเทาะออก นำเมล็ดที่ได้มาใส่ในตะแกรงพลาสติกที่เย็บด้วยมือติดกัน 2 อัน เพื่อทำเป็นฝาปิดมิดชิด แล้วเพาะลอยน้ำไว้ในกระชังปลา จนเวลาประมาณ 15 วัน หญ้าทะเลจะออกราก แตกยอดอ่อนเป็นต้นกล้า สามารถนำไปปลูกได้

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ปลูกหญ้าทะเลโดยวิธีกางมุ้ง ประกอบด้วย ไม้ยาวพร้อมธงที่หัวเสา เพื่อปักเป็นสัญลักษณ์บอกเรือที่วิ่งผ่านไปมาว่าเป็นจุดปลูกหญ้าทะเล เมื่อเห็นธงจะได้หลบ และมุ้งครอบที่ทำขึ้นเองจากภูมิปัญญา โดยใช้เหล็กดัดเป็นสี่เหลี่ยม และเป็นเสาแหลมสำหรับปักลงดิน แล้วใช้มุ้งครอบทั้งด้านบนและด้านข้าง จากนั้นนำต้นกล้าหญ้าทะเลไปวางไว้ในหลุมที่ขุดไม่ลึกมาก แล้วนำมุ้งมาครอบเอาไว้เพื่อไม่ให้ถูกน้ำทะเล หรือคลื่นซัดลอยไปที่อื่น แต่ในการปลูกจะต้องรอตอนน้ำลงสูงสุด เพราะจะต้องขุดหลุมฝังในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำขังเท่านั้น


โดย นายยาเหตุ กล่าวว่า ตนเองทุ่มเทชีวิตให้การปลูกหญ้าทะเลหน้าหมู่บ้านตั้งแต่ประมาณปี 2553-2554 หรือตลอดมากว่า 10 ปี ในสมัยที่เคยมีเรืออวนรุน อวนลาก และเรืออื่นๆ เข้ามาทำประมงชายฝั่ง แล้วลากเอาหญ้าทะเลและสัตว์ทะเลขนาดเล็ก กุ้ง หอย ปู ปลาติดไปด้วย ถือเป็นการทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้าง ทำให้หญ้าทะเลตายหมดเหลือเพียงประมาณครึ่งไร่เท่านั้น ต่อมาจึงมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการทำประมงอวนรุน อวนลากตลอดแนวชายฝั่ง จากนั้นตนก็ริเริ่มปลูกหญ้าทะเล เพียงหวังว่าหากมีหญ้าทะเลขึ้นจะมีสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ตามมา จะได้ไม่ต้องออกทะเลไปไกล

ทั้งนี้ ตนได้นำเมล็ดหญ้าทะเลไปวางฝังไว้ทั่วไป ซึ่งก็รอดบ้าง ตายบ้าง แต่ทำให้ปริมาณหญ้าทะเลเพิ่มขึ้นมาเป็นนับ 10 ไร่ และมีนักเรียน นักศึกษามาศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกหญ้าทะเลกับตนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามในการปลูกหญ้าทะเลบางครั้งพอฝังลงไปแล้วต้นกล้าจะถูกน้ำทะเลซัดลอยไป ตายบ้าง รอดบ้าง จึงเกิดแนวคิดการปลูกโดยวิธีการกางมุ้ง เพื่อไม่ให้ถูกคลื่นซัดลอยไป ทำให้หญ้าทะเลโอกาสรอดมากกว่า

“แต่ที่ตนเสียใจขณะนี้คือ หญ้าทะเลที่ตนปลูกไว้และที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้ตายลงเป็นบริเวณกว้างหลังมรสุมที่ผ่านมา จนตอนนี้ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร รวมทั้งไม่มีเงินทุนซื้อเหล็กมาทำมุ้งให้ได้หลายๆ อัน เพื่อปลูกหญ้าทะเลให้เป็นแนวได้จำนวนมากขึ้น” นายยาเหตุ กล่าว












    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า