วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรังนำปลานิล GAP พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าสินค้า



 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง คิดค้นนำปลานิล GAP มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย อาทิ ปลานิลส้ม บะหมี่ปลานิล คัพเค้กปลานิล ซูชิปลานิล คุกกี้ก้างปลานิล หนังปลา-เหงือกปลานิลปรุงรส เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
วันนี้ (31 ม.ค.) วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง ได้จัดโครงการอบรมวิชาชีพเกษตรกรรมระยะสั้น หลักสูตรเกษตรกรรม วิชาการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะการนำปลานิล GAP มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ปลานิลส้มสูตรผสมข้าวสุก ปลานิลส้มสูตรผสมข้าวคั่ว บะหมี่ปลานิล/เกี๊ยวปลานิล คัพเค้กปลานิล กรอบเค็มปลานิล ซูชิปลานิลส้ม คุกกี้เสริมแคลเซียมจากก้างปลานิล หนังปลานิลปรุงรส เหงือกปลานิลปรุงรส เพื่อให้กลุ่มผู้สนใจได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับผลผลิตและวัตถุดิบในพื้นที่ เป็นการแปรรูปสินค้า เพิ่มมูลค่า และยืดอายุให้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งเป็นการสร้างอาชีพที่ 2 และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรอีกด้วย




อย่างเช่น คัพเค้กปลานิล หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่กำลังมีทิศทางด้านการตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นการนำเนื้อปลานิลมาปั่นกับเนย ไข่ไก่ นมจืด น้ำตาล เกลือป่น ผงฟู และแป้ง จนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นตักส่วนผสมใส่ในถ้วยคัพเค้ก แล้วโรยหน้าด้วยพาเมซานชีส ผงปาปริก้า และเครื่องเทศ ก่อนนำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 25 นาที ก็จะได้คัพเค้กปลานิล ซึ่งมีรสชาติของแป้งออกเค็มนำ คล้ายกับแป้งพิซซ่า และมีรสชาติของเนื้อปลาเล็กน้อย แต่กลับไม่มีกลิ่นคาวอย่างใด
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการเลี้ยงปลานิลในระบบ GAP (อาหารปลอดภัย) และจับปลามาไว้ในในบ่อพัก พร้อมอดอาหาร 1 วัน เพื่อให้มีเศษอาหารเหลือในกระเพาะอาหาร และลำไส้ปลาน้อยที่สุด นอกจากนั้น ยังมีเทคนิคการใช้วิธีการลดอุณหภูมิของปลา โดยนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำแข็ง เพื่อลดอัตราการเคลื่อนไหว หรือการดิ้นรนของปลาให้เหลือน้อยที่สุด อีกทั้งยังใช้มีดปลายแหลมแทงตัดเส้นประสาท ตัดขั้วเหงือก แล้วดึงอวัยวะภายในของปลาออกมา ก่อนนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำแข็ง 30 นาที เพื่อเป็นการกำจัดเลือดออกจากกล้ามเนื้อ ลดกลิ่นคาว และชะลอการเสื่อมคุณภาพของเนื้อปลาด้วย




นางเรวดี แสงแก้ว หัวหน้าแผนกวิชาอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีตรัง กล่าวว่า กิจกรรมการเรียนการสอนหลักสูตรอาหารและโภชนาการ ในระดับ ปวช.และ ปวส. ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น 
โดยปลา 1 ตัวเราสามารถที่จะนำมาผลิตได้ทุกส่วนโดยที่ไม่ทิ้งเลย เช่น เนื้อปลา ทำเป็นเค้ก เส้นบะหมี่ กรอบเค็ม ปลาส้ม, ก้างปลา ทำเป็นคุกกี้เสริมแคลเซียม, เหงือกปลา ทำเป็นเหงือกปลาปรุงรส, เกล็ดปลา ทำเป็นดอกไม้ หรือเข็มกลัด, ส่วนพุงปลา หรืออวัยวะภายใน ทำเป็นไตปลา แบบใช้จนหมดเกลี้ยง ซึ่งปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีผลตอบรับที่ดีมาก และกำลังเข้าทำการประกวดในระดับชาติ รวมทั้งต่อยอดสู่ชุมชนที่สนใจ














ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์


แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า