ชุมนุมสหกรณ์ตรังเจอปัญหาสารพัดจนงานหยุดชะงัก ร้องถูกนายทะเบียนเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ปี 62



 อดีตคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ชุดที่ 37 ร้องเรียนถูกนายทะเบียนออกคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญปี 2562 ส่งผลให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก รวมทั้งการฟ้องร้องคดีต่างๆ

นายสมพร เต็งรัง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ชุดที่ 37 ได้เรียกประชุมอดีตคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ทั้ง 15 คน หลังจากสหกรณ์จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นนายทะเบียน สั่งเพิกถอนการประชุมเลือกคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นผลทำให้การดำเนินกิจการของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังต้องหยุดชะงัก ทั้งธุรกิจรับฝากยาง ธุรกิจซื้อขายยางในตลาดกลาง โดยสภาพปัจจุบันเหมือนเป็นโกดังร้าง ไม่มีเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน เนื่องจากไม่มีการจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการทำธุรกรรมต่างๆ ที่คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้กระทำไว้ ในห้วงระยะเวลาที่ทำหน้าที่ต้องตกเป็นโมฆะ ตลอดจนส่งผลต่อคดีความต่างๆ ที่ทางชุมนุมสหกรณ์ได้แจ้งความเอาผิดไว้ก่อนหน้านั้นด้วย

นายสมพร เต็งรัง อดีตประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า คณะกรรมการตนเองเป็นชุดที่ 37 ที่สมาชิกได้ลงชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เพื่อเลือกคณะกรรมการ จำนวน 15 คน มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินกิจการของชุมนุมฯ ทั้งนี้ เพื่อปกป้อง และรักษาสิทธิประโยชน์ของชุมนุมสหกรณ์ โดยสหกรณ์สมาชิกเป็นผู้ถือหุ้น และถือเป็นทรัพย์สินของเกษตรกร โดยชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ประสบปัญหาทางธุรกิจ เนื่องจากถูก นางนิตรดา อาจเส็ม อายุ 45 ปี อดีตผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์ ร่วมกับพวกทุจริตขายยางในชุมนุม สร้างความเสียหายให้แก่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรังประมาณ 300 ล้านบาท โดยถูกตรวจสอบพบเมื่อปี 2561 และอดีตผู้จัดการคนดังกล่าวถูกไล่ออก พร้อมมีการแจ้งความดำเนินคดีตามมาหลายคดี


หลังจากนั้น ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ก็ประสบปัญหาทางธุรกิจตามมาจนถึงปัจจุบัน และมีการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามากอบกู้กิจการ แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือ หรือคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแล โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มากนักอย่างที่ควรจะเป็น จนกระทั่งว่างเว้นตำแหน่งผู้จัดการ และคณะกรรมการอีกครั้ง แต่คดีความต่างๆ กำลังสิ้นสุดอายุความ และการดำเนินกิจการก็ชะงักงัน ทางสหกรณ์สมาชิกตัวแทนเกษตรกร ซึ่งเป็นเจ้าของชุมนุมสหกรณ์ที่แท้จริง ต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิก จึงเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการชุดตนเองขึ้นมา เพื่อเร่งขับเคลื่อนธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง ให้เกิดขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเพื่อการต่อสู้คดีความต่างๆ ดังกล่าว

รวมทั้งคดีที่อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง (เจ้าของเงิน) ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากชุมนุมสหกรณ์ตรัง เป็นเงิน 50 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากอดีตผู้จัดการชุมนุมฯ คนดังกล่าว ร่วมกับพวกทุจริตขายยางในชุมนุม โดยมีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินปลอม ฉบับละ 5 ล้านบาท จำนวน 10 ฉบับ รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ไปกู้เงินจากบุคคลภายนอก โดยไม่ผ่านมติของคณะกรรมการชุมนุม ล่าสุดอัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้องชุมนุมสหกรณ์ แต่ถูกเจ้าของเงินนำคดีไปร้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพื่อให้พิจารณาสั่งฟ้องชุมนุมสหกรณ์ เพื่อเอาเงินคืน ทั้งนี้ ชุมนุมฯ ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่สมาชิกมาทราบเรื่องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 จึงมีการเรียกประชุมสมาชิกจนครบองค์ประชุม เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เพื่อเลือกกรรมการ จำนวน 15 คน เพื่อเข้ามาทำงานแก้ไขปัญหา จากนั้นก็ทำงานมาตามแผน ทั้งการต่อสู้คดีด้วยการยื่นคัดค้านคำอุทธรณ์ การทำธุรกิจรวบรวมยางของสมาชิก การชำระหนี้ตามแผน

โดยระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หลังเข้ามาทำหน้าที่ สามารถรวบรวมยางได้มูลค่าสูงถึง 44 ล้านบาท สหกรณ์สมาชิกได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะการฝากยางทางชุมนุมสหกรณ์คิดค่าดำเนินการน้อย เมื่อเทียบกับพ่อค้าคนกลาง แต่คณะกรรมการฯ ทำงานมาได้เป็นเวลา 5 เดือน 15 วัน ปรากฏว่าในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ถูกสหกรณ์จังหวัดตรัง ในฐานะนายทะเบียนมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวทุกระเบียบวาระ โดยอ้างว่าการเรียกประชุมดังกล่าวผิดข้อบังคับสหกรณ์ เนื่องจากไม่มีหนังสือเชิญประชุมจากประธานชุมนุม รองประธาน หรือผู้จัดการชุมนุม ทั้งนี้ สมาชิกทั้งหมดรวมทั้งนายทะเบียนก็ทราบอยู่ว่าในห้วงเวลาดังกล่าวไม่มีตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ไม่มีกำหนดเอาไว้ว่าในกรณีคณะกรรมการสหกรณ์ว่างลง ผู้ใดเป็นผู้เรียกประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการฯ

จึงเห็นว่าคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกคณะกรรมการดังกล่าวของนายทะเบียนไม่ถูกต้อง และไม่ชอบธรรม แต่พวกตนใช้กฎหมายทั่วไปมาเรียกประชุม ซึ่งไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญในวันประชุมดังกล่าวก็มีเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์จังหวัดตรัง มานั่งเป็นสักขีพยานด้วย โดยที่ไม่ได้ทักท้วงในการประชุมแต่อย่างใด จึงถือว่ามติที่ประชุมดังกล่าวสมบูรณ์ ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว เพราะระเบียบกำหนดไว้ว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้ตามลำดับ คือลำดับแรกใช้ตามจารีตประเพณี ลำดับที่สองใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ลำดับสามใช้กฎหมายทั่วไป ซึ่งชุมนุมสหกรณ์ใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในการดำเนินการ โดยให้สมาชิกที่มีสิทธิ มีเสียง เป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของหุ้นทั้งหมด

ซึ่งในวันดังกล่าวมีผู้เข้าประชุมคิดเป็นมูลค่าหุ้น 61% และมีตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จำนวน 2 คน คือ ผอ.กลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ และนิติกรของสหกรณ์จังหวัด เข้าร่วมด้วย ถือว่าชุมนุมสหกรณ์ทำชอบด้วยกฎหมาย แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กลับไม่ให้โอกาสกรรมการชุดนี้ ให้กรรมการเป็นโมฆะ มีการสั่งเพิกถอนสิทธิในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ตลอดเวลา 5 เดือน ที่กรรมการชุดนี้ทำงานนั้น ได้ก่อภาระผูกพันกับสมาชิก และองค์กรภายนอกไว้จำนวนมาก เมื่อกรมฯ เพิกถอนให้กรรมการชุดนี้เป็นโมฆะ เท่ากับขาดกรรมการที่จะไปต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ อาจส่งผลให้ชุมนุมสหกรณ์แพ้คดีดังกล่าว โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่ได้คำนึงถึงเลย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ได้นัดให้กรรมการไปศาลเพื่อต่อสู้คดี หากไม่มีกรรมการไปศาลได้ตามวันดังกล่าว โอกาสที่ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดจะแพ้คดีสูง เท่ากับว่าชุมนุมสหกรณ์จะต้องจ่ายเงินคืนบุคคลภายนอกรายดังกล่าว จำนวน 50 ล้านบาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินปลอมที่อดีตผู้จัดการชุมนุมร่วมกับพวกทุจริตไป ทั้งนี้ หากทางชุมนุมสหกรณ์แพ้คดี ต้องใช้หนี้แทนอดีต ผจก.ผู้ทุจริต พวกตนจะแจ้งความ และร้องเรียนเอาผิดต่อนายทะเบียน หรือกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างแน่นอน






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า