คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย จัดกิจกรรมการฝึกอบรมผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปูม้า ทั้ง “ลูกชิ้นปูม้า” และ “ปูจ๊อ” ตราแตงโมเกาะสุกร ตามแนวทาง BCG Model
ดร.วิกิจ ผินรับ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) วิทยาเขตตรัง ในนามหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย พร้อมด้วยอาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง ได้ลงพื้นที่เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เพื่อจัดกิจกรรมการฝึกอบรมผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากปูม้า คือ “ลูกชิ้นปูม้า” และ “ปูจ๊อ” ตราแตงโมเกาะสุกร ตามแนวทาง BCG Model ต้นแบบเกาะสุกร
โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้โครงการการจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนใน จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ระยะที่ 2 โดยมี นางราตรี จิตรหลัง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ลานกิจกรรม องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสุกร พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมาย คือ สมาชิกธนาคารปูม้า จำนวน 20 คน
ทั้งนี้ โครงการธนาคารปูม้า มทร.ศรีวิชัย ได้นำอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับแปรรูป เช่น เครื่องซีทสุญญากาศ ฟองเต้าหู้สำหรับห่อปูจ๊อ หม้อ กระทะ เครื่องชั่ง มอบให้แก่ชุมชนเกาะสุกร จำนวน 3 ชุด เพื่อสานต่อกิจกรรมการถ่ายทอดที่ทางวิทยากรอบรมให้ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นัฎฐา คเชนทร์ภักดี อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วยทีมงานเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปูม้า 2 ผลิตภัณฑ์ คือ “ลูกชิ้นปูม้า” และ “ปูจ๊อ” ภายใต้แบรนด์แตงโมเกาะสุกร เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
พร้อมสร้างจุดเด่นของตัวผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ หรือสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก รวมทั้งเป็นเมนูหลัก (เมนูแนะนำ) ที่ไว้รับรองนักท่องเที่ยวที่เดินมาพักผ่อนบนเกาะสุกร แล้วสั่งรับประทาน โดยมีส่วนผสมหลัก คือ ปูม้า ซึ่งเป็นพระเอกของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ประกอบกับชุมชนบนเกาะส่วนใหญ่ก็มีอาชีพประมง จึงสามารถจับปูม้าจากท้องทะเลที่มีความสด และนำมาแปรรูปเก็บไว้ได้นาน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง BCG Model ต้นแบบเกาะสุกร
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
ข่าวเมืองตรัง