ส.ส.ตรังลงตรวจสอบเร่งซ่อมสะพานหักใน ต.ลิพัง หลังพ่อเดือดร้อนต้องแบกลูกข้ามคลองไปโรงเรียน


 ส.ส.พื้นที่พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ ลงตรวจสอบ และเร่งซ่อมสะพานข้ามคลอง ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ที่พังจากพายุโนอึล จนคุณพ่อต้องแบกลูกสาวตัวน้อยข้ามไปกลับทั้งน้ำตาด้วยความหวาดกลัว


จากกรณีที่ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านเขาติง ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ร้องเรียนสะพานไม้ข้ามคลองหัก หลังถูกน้ำป่าไหลหลากในช่วงพายุโนอึล เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ชาวบ้านที่มีสวนยางพารา รวมทั้งพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่อยู่ด้านใน รวมไม่น้อยกว่า 20 แปลง ที่จะต้องใช้สะพานข้ามคลองดังกล่าว ต้องหยุดกรีดยางพารามายาวนานนับแต่บัดนั้น ทำให้ขาดรายได้ เพราะไม่สามารถจะขนน้ำยาง รวมทั้งขนผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ได้ รวมทั้งบ้านพักอาศัยอยู่ด้านใน จำนวน 2 หลังคาเรือน ก็ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยบ้านทั้ง 2 หลังมีบ้านเลขที่ถูกต้อง

โดยบ้านหลังหนึ่งมีคนแก่อาศัยอยู่ 2 คน แต่ขณะนี้ได้ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่บ้านญาติ ส่วนอีกหลังซึ่งอยู่อาศัยกัน 2 คนพ่อลูก คือนายธวัชชัย อินทร์เครา อายุ 42 ปี กับ ด.ญ.อัจฉราพร อินทร์เครา หรือน้องแพรวา อายุ 8 ปี นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ปะเหลียน ที่ยังคงพักอาศัยอยู่ที่บ้าน และจะต้องใช้สะพานข้ามคลองที่หักดังกล่าวเพื่อไปโรงเรียน และกลับบ้านทุกวันทั้งเช้า-เย็น โดยหากปริมาณน้ำสูงมากก็ต้องหยุดไปโรงเรียน แต่หากพอจะสามารถเดินข้ามได้ พ่อก็พยายามจะแบกลูกขึ้นขี่คอ เพื่อนำไปส่งอีกฟาก ทำให้ลูกสาวซึ่งหวาดกลัวลื่นล้มตกน้ำ ต้องร้องไห้เกือบทุกวันอย่างน่าอนาถใจนั้น


ล่าสุด วันนี้ (3 ต.ค.) น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทนราษฎรเจ้าของพื้นที่ พร้อมด้วย นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง หลายสมัย ซึ่งเป็นพ่อของ น.ส.สุณัฐชา รวมทั้งนายไพโรจน์ ศรีละมุน นายอำเภอปะเหลียน นายปรีชา สำแดง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกธารกระจาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร และสมาชิกสภา อบต.ลิพัง ผู้บริหารโรงเรียนทุ่งยาววิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่น้องแพรวาศึกษาอยู่ ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกับนายธวัชชัย พ่อของน้องแพรวา และชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด เพื่อหาทางช่วยเหลือ โดยทุกฝ่ายลงความเห็นตรงกันว่าจะต้องเร่งหาทางช่วยเหลือ เพราะชาวบ้านใช้สะพานดังกล่าวมายาวนาน ทั้งการเข้าออกบ้านทั้ง 2 หลัง และน้องแพรวา ก็ต้องไปโรงเรียน โดยที่ผ่านมา มีการซ่อมแซมโดยชาวบ้านมาตลอด แต่ครั้งนี้สะพานหักทั้งหมด ชาวบ้านจึงซ่อมแซมด้วยตัวเองไม่ได้

ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ภายในสัปดาห์หน้าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกับชาวบ้านในการสร้างสะพานไม้ไผ่ทดแทน เพื่อให้สามารถใช้การได้ชั่วคราวในการสัญจรไปมา ไปโรงเรียน และขนพืชผลการเกษตร ระยะที่ 2 จะเร่งจัดหาเสาเข็ม จำนวน 8 เสา ขนาดยาว 6 เมตร กว้าง 6 เมตร เพื่อนำมาสร้างทำสะพานไม้ชั่วคราวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อรับมือน้ำป่าไหลหลากที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ เพราะในพื้นที่เริ่มมีฝนตกหนักลงมาอีกระลอก

และระยะที่ 3 หน่วยพิทักษ์ป่าน้ำตกธารกระจาย จะเร่งทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่สร้างสะพานคอนกรีต โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ขณะที่ ส.ส.ในพื้นที่จะเร่งประสาน อบจ.ตรัง เพื่อจัดหางบประมาณสำหรับการสร้างสะพานคอนกรีตให้สามารถได้เส้นทางสัญจรไปมาได้อย่างถาวร จึงสร้างความดีใจให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เรียกเสียงปรบมือกึกก้องด้วยความดีใจ


นางอารี โอลาลิ อายุ 55 ปี และนายประจวบ ด้วงดำ อายุ 65 ปี 2 สามีภรรยาที่มีบ้านอยู่ด้านใน กล่าวว่า พวกตนอยู่อาศัยมาแล้วกว่า 30 ปี และใช้สะพานนี้มาตลอด หากผุพังชาวบ้านก็ช่วยกันซ่อม แต่หลังจากน้ำป่าไหลหลากจากพายุโนอึล ทำให้สะพานหัก ไม่สามารถเข้าออกได้ตามปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ซึ่งนายประจวบ มีอาชีพก่อสร้าง บางครั้งอาจกลับบ้านดึกดื่น และหากเจ็บป่วยในเวลากลางคืนก็ไม่สามารถเข้าออกได้ เพราะเสี่ยงอันตราย จึงต้องย้ายไปพักอาศัยอยู่บ้านอดีตกำนันเป็นการชั่วคราว จึงอยากได้สะพานใหม่ให้สามารถเข้าออกบ้านได้ตามปกติ

ด้านนายถาวร มานะทวี อดีตกำนัน ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน กล่าวว่า สะพานดังกล่าวนี้มีมาตั้งแต่ปี 2516-2517 สมัยตนเองยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน และยังไม่เป็นกำนัน หลังจากนั้นหากผุพัง ชาวบ้านก็ช่วยกันซ่อมแซมมาโดยตลอด เพราะสมัยก่อนไม้ที่ผุพังหักโค่นมีจำนวนมาก และมีช้างชักลาก ชาวบ้านสามารถหาไม้มาสร้างซ่อมแซมใหม่ได้เอง จนหลังสุดซ่อมแซม และใช้งานมาแล้วประมาณ 10 ปี จึงหักลงทั้งหมดจากฤทธิ์พายุโนอึลในครั้งนี้ ซึ่งต้องสร้างใหม่ทั้งหมด แต่ขณะนี้ไม่มีไม้ผุพังหักโค่นตามธรรมชาติแล้ว และอยู่ในเขตป่า จึงไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ จึงต้องร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือชาวบ้าน








ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า