แพทย์อินเดียเบรกใช้ ‘ขี้วัว’ รักษาโควิด-19 ชี้เสี่ยงแพร่เชื้อโรคจากสัตว์สู่คน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในอินเดียออกมาเตือนประชาชนเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่า “มูลวัว” สามารถรักษาโควิด-19 ได้ ย้ำไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน และอาจจะทำให้เชื้อโรคอื่นๆ แพร่จากสัตว์มาสู่คน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียพุ่งสูงกว่า 22.6 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 246,116 คน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ 5-10 เท่า

ประชาชนทั่วอินเดียต่างดิ้นรนหาเตียงในโรงพยาบาล, ออกซิเจน และยาที่จะรักษาอาการป่วย และมีอยู่ไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทัน

ที่รัชคุชราตทางตะวันตกของอินเดีย มีชาวบ้านบางกลุ่มที่เชื่อว่าการเข้าไปในคอกวัว และนำมูล+ปัสสาวะวัวมาพอกตัวสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากโควิด-19 หรือไม่ก็ช่วยให้หายจากโรคนี้ได้

ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู วัวเป็นพาหนะของเทพเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตและโลก นับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่คนฮินดูจะนำมูลวัวมาใช้ทำความสะอาดบ้านเรือน หรือใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ โดยเชื่อว่ามีสรรพคุณในการรักษาความเจ็บไข้และฆ่าเชื้อโรคได้

เคาตัม มานิลาล โบริซา ผู้จัดการบริษัทยาแห่งหนึ่ง อ้างว่าตนเองเคยมีประสบการณ์ตรง และเชื่อว่าวิธีนี้ช่วยให้ตนเองหายจากโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว

“คุณเห็นใช่ไหม แม้แต่คนเป็นหมอก็ยังมาที่นี่เลย พวกเขาเชื่อว่าวิธีบำบัดเช่นนี้ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และทำให้พวกเขาสามารถออกไปดูแลรักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัว” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ทั้งในอินเดียและทั่วโลกได้ออกมาเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้หลีกเลี่ยง “การรักษาทางเลือก” สำหรับโควิด-19 เพราะอาจทำให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเกิดความชะล่าใจ หรืออาจจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา

“ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า มูลหรือปัสสาวะของวัวสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้ มันเป็นเรื่องของความเชื่อล้วนๆ” ดร. เจเอ จายาลาล ประธานสมาคมแพทย์แห่งอินเดีย ระบุ

“การนำเอาสิ่งเหล่านี้มาพอกตัวหรือบริโภคเข้าไปยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยอาจจะทำให้เชื้อโรคอื่นๆ แพร่จากสัตว์มาสู่คนได้”

นอกจากความเสี่ยงจากการสัมผัสและบริโภคมูลวัวแล้ว แนวปฏิบัติเช่นนี้ยังมักจะมีการรวมตัวของคนจำนวนมากๆ ซึ่งก็เป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่โควิด-19 อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: รอยเตอร์

 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า