เปิดเกณฑ์ 5 ข้อ รับผู้ป่วยโควิด 19 เข้า รพ.-จ่ายเงินประกัน ไม่เข้าข่ายตามนี้ ไม่ได้


   สธ. เผยหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ในการรับผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารักษาที่โรงพยาบาล รวมถึงการจ่ายเงินประกัน ถ้าไม่เข้าข่ายตามนี้ เบิกประกันไม่ได้ พร้อมปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องตรวจ RT-PCR รอบ 2 ใช้ ATK แทน

   ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับหรับการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ล่าสุดในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ทั้งในและจากต่างประเทศ จำนวน 21,232 ราย หากรวมผลตรวจ ATK อีกจำนวน 16,890 ราย จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีตัวเลขสูงถึง 38,122 ราย ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบปี 2565 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลในเรื่องของการรักษาหากเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเตียงรองรับผู้ป่วยที่อาจจะไม่เพียงพอ หรือประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้น

  ขณะที่เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการปรับเกณฑ์ใหม่ที่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลถ้าไม่เข้าข่าย 1 ใน 5 ข้อนี้ ได้แก่

          1. มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานาน 24 ชั่วโมง

          2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่

          3. Oxygen Saturation หรือความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด น้อยกว่า 94%

          4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์

          5. ในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง

          ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังสัมพันธ์ไปถึงประกันสุขภาพอีกด้วย ถ้าไม่มีอาการ 1 ใน 5 ข้อดังกล่าวนี้ และเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องจ่ายเงินเอง เบิกประกันไม่ได้

          นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ยังได้ปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกเลิกการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR ครั้งที่ 2 ในวันที่ 5 ของการกักตัว โดยให้ตรวจแบบ ATK และให้รายงานกลับมาแทน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

          ส่วนมาตรการเปิดภาคเรียนและการป้องกันในสถานศึกษา ทั้งโรงเรียนประจำ โรงเรียนแบบไป-กลับ และกรณีมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือติดเชื้อในสถานที่สอบ มีรายละเอียดดังนี้


โรงเรียนประจำ

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ

          - เรียน on site ตามปกติ สังเกตอาการ และประเมิน TST

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

          - จัดการเรียน การสอน ปฏิบัติงาน ทำกิจกรรม ใน Quarantine zone ตามแนวทาง Sand box safety zone in school เป็นเวลา 7 วัน และให้ติดตามสังเกตอาการอีก 3 วัน

          - การตรวจคัดกรองหาเชื้อ ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที และให้ตรวจครั้งที่ 1 ในวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อและตรวจครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ

          - สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม และประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียน

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้ติดเชื้อ

          - พิจารณาร่วมกับ หน่วยบริการสาธารณสุข หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดทำ school isolation ตามแนวทาง Sand box safety zone

          - สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม เน้นการระบายอากาศ และกำกับติดตาม มาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุด


โรงเรียนไป - กลับ

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ

          - เรียน on site ตามปกติ สังเกตอาการ และประเมิน TST

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

          - แยกกักตัวที่บ้าน หรือ สถานที่ตามคำแนะนำของหน่วยบริการสาธารณสุข เป็นเวลา 7 วัน และให้ติดตามสังเกตอาการอีก 3 วัน

          - การตรวจคัดกรองหาเชื้อ ถ้ามีอาการให้ตรวจทันที และให้ตรวจครั้งที่1 ในวันที่ 5-6 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจครั้งสุดท้ายวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อ

          - สถานศึกษา จัดการเรียนการสอน ที่เหมาะสม และประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียน

กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อ

          - ปฏิบัติตามมาตรการ การรักษา ของกระทรวงสาธารณสุข

          - พิจารณาจัดทำ School Isolation ตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการโรงเรียน หน่วยงานสาธารณสุข ผู้ปกครอง ชุมชนพิจารณาร่วมกันให้ความเห็นชอบ และปฏิบัติตามมาตรการ SSS

          - สถานศึกษาจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยเฉพาะ กลุ่มที่ไม่มีอาการ


สถานที่จัดสอบ

          ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียน ในการคัดกรอง และให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัยขั้นสูงสุดจัด ให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดการสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มผู้ติดเชื้อ เน้นการระบายอากาศที่ดี จัดที่นั่งสอบมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร

ผู้เข้าสอบ

          - เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือ อาการเล็กน้อย หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

          - ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังการเข้าสอบ งดการพูดคุย เว้นระยะห่าง

          - การเดินทางไปสนามสอบโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธารณสุขกรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว

ผู้คุมสอบ

          - ปฏิบัติการคุมสอบตามมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุข เช่น การใส่หน้ากากอนามัย ใช้เวลาในการคุมสอบในห้องสอบให้น้อยที่สุด รวมถึงการวางแผนจัดการสอบให้เหมาะสม


 




ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า