รู้จัก 5 ทายาท ฮุน เซน ครอบครัวเดียว ครองทั้งทหาร สื่อ เศรษฐกิจ


  ประวัติทายาท ฮุน เซน ลูก 5 คน โปรไฟล์สุดปัง แต่ละคนเรียนจบเมืองนอก พูดได้หลายภาษา แต่งงานเชื่อมเครือข่ายอำนาจ ครอบคลุมทั้งกองทัพ ธุรกิจ และไอที

   ถึงแม้จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 2566 แต่ชื่อของ ฮุน เซน ก็ยังคงเป็นเงาใหญ่ปกคลุมการเมืองของกัมพูชา ด้วยการวางแผนส่งต่ออำนาจให้กับลูก ๆ อย่างเป็นระบบ กลายเป็นหนึ่งในตระกูลที่แข็งแกร่งที่สุดในกัมพูชา โดยลูก ๆ ทั้ง 5 คน (ชาย 3 หญิง 2) ได้รับการศึกษาที่ดีจากต่างประเทศ พูดได้หลายภาษา และครอบครองตำแหน่งสำคัญทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ


 ฮุน มาเนต ลูกชายคนโต : นายกฯ ที่พ่อปั้น


              เริ่มจาก ฮุน มาเนต (Hun Manet) ลูกชายคนโต วัย 48 ปี ที่เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เขาเป็นชาวกัมพูชาคนแรกที่ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก West Point ของสหรัฐฯ ก่อนจะคว้าปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ แม้จะเติบโตในประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่เมื่อกลับมารับราชการในบ้านเกิด ฮุน มาเนต ก็เลือกยืนเคียงข้างอำนาจของพ่อ ก้าวหน้าในกองทัพอย่างรวดเร็ว ได้รับยศนายพลระดับ 4 ดาว และในปี 2566 ก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา โดยแต่งงานกับ ดร.พิช จันมนี ลูกสาวอดีตรัฐมนตรีแรงงาน ซึ่งเป็นครอบครัวผู้มีอิทธิพลอีกสายหนึ่ง


 Hun Manet
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Hun Manet 


ฮุน มานา ลูกสาวคนโต : เจ้าแม่สื่อ คุมจอทั้งประเทศ


              ฮุน มานา (Hun Mana) ลูกสาวคนโต วัย 45 ปี (น้องสาวฮุน มาเนต) ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "เจ้าแม่สื่อกัมพูชา" เธอเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อกว่า 20 แห่ง รวมถึงสถานีโทรทัศน์ Bayon และหนังสือพิมพ์ Kampuchea Thmey Daily ซึ่งถือเป็นสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลสูงในกัมพูชา แม้ประวัติการศึกษาของเธอจะไม่เปิดเผยชัดเจน แต่เธอก็ได้รับการเรียกขานว่า "ดอกเตอร์" ในสื่อภายในประเทศ มานาแต่งงานกับ "พลเอกดี วิเชีย" ลูกชายของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่แข็งแรง เชื่อมโยงตระกูลฮุนกับหน่วยความมั่นคงอย่างแน่นแฟ้น


Mana
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Mana Hun 

Mana
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Mana Hun 

Mana
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Mana Hun 

ฮุน มานิต ลูกชายคนรอง : มือข่าวกรอง-ความมั่นคง


              ส่วน ฮุน มานิต (Hun Manith) ลูกชายคนที่สอง วัย 44 ปี รับผิดชอบด้านงานข่าวกรองและความมั่นคงโดยตรง เขาได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส สหรัฐฯ และออสเตรเลีย มีดีกรีปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย Hofstra และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Deakin ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองในกระทรวงกลาโหม ดูแลทั้งข่าวความมั่นคงภายในและข้อมูลเชิงลึกจากชายแดน เขาแต่งงานกับ "ดี จินตาวี" น้องสาวของพลเอกดี วิเชีย ซึ่งเป็นสามีของพี่สาว (ฮุน มานา) ส่งผลให้ตระกูลฮุนกับตระกูลดีกลายเป็นเครือญาติที่แนบแน่นและทรงอิทธิพลยิ่งขึ้น

มานิต
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Hun Manith ហ៊ុន ម៉ានិត

มานิต
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Hun Manith ហ៊ុន ម៉ានិត


ฮุน มานี ลูกชายคนเล็ก : ผู้นำเยาวชนสายชาตินิยม


              ลูกชายคนเล็ก ฮุน มานี (Hun Many) วัย 43 ปี ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าพี่น้อง เขาเป็นผู้นำขบวนการเยาวชนสายชาตินิยมในนาม "สหพันธ์เยาวชนกัมพูชา" ที่มีบทบาททางการเมืองสูงมากในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมสนับสนุนรัฐบาล เช่น ขบวนสวนสนาม สวมเสื้อสีฟ้าแบบรวมหมู่ เขาเรียนจบด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากออสเตรเลีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และมีแนวโน้มจะถูกผลักดันให้ขึ้นเป็นนายกฯ คนถัดไป 

             แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็ถูกวิจารณ์เรื่องข่าวฉาวกับผู้หญิงอยู่ไม่น้อย มานี แต่งงานกับ ยิม ไช ลิน (Yim Chhay Lin) ลูกสาวของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีไลฟ์สไตล์เป็นแฟชั่นนิสต้าระดับไฮโซ เคยไปเดินพรมแดงเมืองคานส์และชมแฟชั่นโชว์ Hermès ที่ปารีส

Many
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Hun Many

Many
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Hun Many

Many
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Hun Many

ฮุน มาลี ลูกสาวคนเล็ก : นางพญา ICT คุมทุกสัญญาณ


              ส่วนลูกสาวคนเล็กสุดของครอบครัวคือ ฮุน มาลี (Hun Mali) วัย 42 ปี แม้ไม่ปรากฏในข่าวการเมืองบ่อยนัก แต่ก็มีบทบาทสำคัญในระบบโทรคมนาคมของประเทศ โดยเธอแต่งงานกับ สก พุทธิวุทธ ลูกชายของอดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโทรคมนาคมของกัมพูชา ดูแลทั้งระบบ ICT การสื่อสาร และควบคุมเนื้อหาออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยไม่ต้องอาศัยหมายศาลจากรัฐ นอกจากนี้ทั้งคู่ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่ในกัมพูชากว่า 13 แห่ง ครอบคลุมตั้งแต่พลังงาน ก่อสร้าง เรือสำราญ ไปจนถึงร้านอาหารและอุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

malee
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen of Cambodia  

มาดามหมายเลขหนึ่ง : ประธานสภากาชาด 


              ในอีกด้านหนึ่ง ภรรยาของฮุน เซน คือ บุน รานี ก็เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในฐานะประธานสภากาชาดกัมพูชามายาวนานกว่า 30 ปี เธอได้รับเงินบริจาคจากนานาชาติหลายล้านดอลลาร์ต่อปี แต่ถูกฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าความช่วยเหลือจากกาชาดนั้นถูกผูกโยงกับการสนับสนุนรัฐบาล และในปี 2568 ยังมีเหตุลอบสังหาร ส.ส. ฝ่ายค้านในไทย โดยพบว่าผู้ชี้เป้าเป็นน้องชายของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และเกี่ยวข้องกับผู้ที่เคยได้รับการแต่งตั้งจากฮุน เซน อีกด้วย

หลานสาวคนโปรด : ผู้ถูกวางตัวเป็นนายกฯ หญิง


              เมื่อพูดถึงอนาคตของอาณาจักร ฮุน เซน หลายฝ่ายก็จับตามองไปยังหลานสาวคนโปรดอย่าง ธิดา ลูกสาวของฮุน มานา ที่เคยถูก ฮุน เซน เปรียบว่าเป็น "แม่ของเขากลับชาติมาเกิด" เพราะมีปานที่ตำแหน่งเดียวกัน ธิดาจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์จาก King’s College London และกำลังเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Queen Mary University of London ฮุน เซน เคยยกคฤหาสน์ให้หลานคนนี้ และถึงกับยกเลิกประชุม ครม. เพื่อไปส่งหลานขึ้นเครื่องบิน เธอเริ่มปรากฏตัวในกิจกรรมทางการทูตบ่อยขึ้น จนสื่อในประเทศพากันอวยว่า "ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของกัมพูชา" ก็อาจจะเป็นเธอ   

              แม้จะอ้างว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่การเมืองกัมพูชายังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างครอบครัวอันแน่นแฟ้นของตระกูลฮุน ที่แผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทุกมิติของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สื่อ ความมั่นคง หรือแม้กระทั่งโลกออนไลน์ โดยมีการศึกษาจากต่างประเทศและการแต่งงานเชิงกลยุทธ์เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจไว้รุ่นต่อรุ่น จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก หากจะบอกว่าอาณาจักรของฮุน เซน ยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปีข้างหน้า ผ่านลูก หลาน และเครือญาติของเขาเอง

tida
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen of Cambodia 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Thai PBSเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า