ชาวบ้าน 12 ครัวเรือน ใต้ประตูระบายน้ำโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง ต.นาข้าวเสีย เดือดร้อนหนักจากน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมซ้ำๆ หลายครั้ง เหตุเกิดจากความผิดพลาดในการก่อสร้าง
วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ริมถนนทางหลวงชนบทสายนาหมื่นราษฎร์-เกาะปุด หมู่ 2 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ระยะยาวประมาณ 300 เมตร ใต้ประตูระบายน้ำโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง (ระยะที่ 2) ของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทรับเหมายังไม่แล้วเสร็จ ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาบรรทัด อ.นาโยง ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ถนน และบ้านเรือนของประชาชนรวม 12 ครัวเรือน ตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้ (27 ก.พ.) แม้ระดับน้ำจะลดระดับลงแล้ว รถเล็กผ่านได้ แต่ปริมาณน้ำจำนวนมากยังคงเอ่อล้นตลิ่งไหลหลากท่วมพื้นที่
ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านจาก 12 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง นายอุดม แก้วบุญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เขตอำเภอนาโยง นายสุพร นิลวงษ์ กำนัน ต.นาข้าวเสีย และนายนิกร กลับเฒ่า อายุ 45 ปี เจ้าของอู่ซ่อมรถนิกรการช่าง และภรรยา ได้นำผู้สื่อข่าวเข้าไปดูความเสียหายของรถยนต์ที่นำมาจอดซ่อมในอู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนและใต้ประตูระบายน้ำดังกล่าว ที่ขณะนี้ปริมาณน้ำจำนวนมากจากคลองระบายน้ำยังคงเอ่อล้นคลอง ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบ และภายในอู่ซ่อมรถ ทำให้เกิดความความเสียหาย ทั้งรถกระบะ รถบรรทุก 6 ล้อ รถบรรทุก 10 ล้อ และรถเทรนเลอร์ รวมทั้งหมด 15 คัน เพราะระดับน้ำภายในอู่ยังสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือในการซ่อมรถ หรือที่นอน เสื้อผ้า ก็เสียหายด้วย
นายนิกร และนางอุไรวรรณ กลับเฒ่า 2 สามีภรรยา เล่าว่า ตนเองย้ายร้านจาก ต.ละมอ อ.นาโยง มาเช่าพื้นที่แห่งนี้ทำอู่ซ่อมรถได้ประมาณ 4 เดือนเท่านั้น น้ำป่าที่ไหลมาจากโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียงดังกล่าวเข้าท่วมแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเสียหายประมาณ 80,000 บาท แต่ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ ท่วมติดกัน 2 ครั้ง สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินและรถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดซ่อมอย่างมาก ครั้งละประมาณ 300,000 บาท โดยรถยนต์ประมาณ 6 คัน น้ำท่วมขังถึง 3 ครั้ง ขึ้นสนิม เพราะต้องจอดแช่ในน้ำนานหลายวัน ส่วนเครื่องยนต์ที่เพิ่งซ่อม ยกเครื่องใหม่ไป ทาสีใหม่ หรือซ่อมอะไหล่ใหม่ไป กลับต้องเสียหายซ้ำ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจไปแล้วประมาณ 700,000-800,000 บาท แล้วยังจะต้องซ่อมรถให้ลูกค้าใหม่ ขณะที่รถลูกค้าก็เสียหาย และหลังจากนี้ก็กลัวว่าลูกค้าจะไม่เชื่อถืออีกต่อไป
นายนิกร กล่าววา ที่ผ่านมาน้ำท่วมในในครั้งแรก ตนเองไม่ได้แจ้งบริษัทก่อสร้าง และไม่ได้แจ้งกรมชลประทาน เจ้าของโครงการ เพราะเข้าใจว่าเป็นภัยธรรมชาติ ไม่เป็นไร แต่ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอีก และคิดว่าไม่ใช่ภัยธรรมชาติธรรมดา แต่เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดทำโครงการ ที่ขาดการวางแผนจัดการอย่างรอบคอบ ทำให้ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำอย่างพวกตนได้รับความเดือดร้อน จึงแจ้งไปยังบริษัทก่อสร้าง แต่ไม่มีใครเหลียวแลมารับผิดชอบความเสียหาย ไม่มีการมาถามข่าวคราว และมาเกิดครั้งที่ 3 นี้อีก จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทก่อสร้าง หรือกรมชลประทาน เจ้าของโครงการที่บริหารงานผิดพลาด ช่วยรับผิดชอบค่าเสียหายให้ตนเอง และชาวบ้านทั้ง 12 ครัวเรือนด้วย
ด้านนายอุดม แก้วบุญ ส.อบจ.ตรัง เขตอำเภอนาโยง กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้ประมาณ 50 ปีแล้วไม่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมมาก่อน แต่หลังจากที่มีการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำคลองลำเลียง เพื่อรับน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาบรรทัด ให้ออกเส้นทางนอกเมือง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ชั้นในของ อ.นาโยง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจย่านการค้า เขตเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหลายตำบลของ อ.เมือง และเขตเทศบาลนครตรัง แต่น้ำกลับมาท่วมพื้นที่ของชาวบ้านแทน โดยปัญหานี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการวางแผนจัดทำโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำเดือดร้อนแทน
ทั้งนี้ ความจริงแล้วจะต้องไม่มีการปล่อยน้ำให้ไหลลงมาผ่านคลองที่กำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จนี้ และกรมชลประทานจะต้องจัดสรรงบประมาณให้แขวงทางหลวงชนบทสำหรับนำมาก่อสร้างถนน และสร้างสะพานที่ถนนสายนี้ก่อน โดยมีความกว้างให้เท่ากับขนาดคลองระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก แต่ปรากฏว่า เจ้าของโครงการและผู้รับเหมาวางแผนผิดพลาด ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงอยากเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปิดเส้นทางน้ำด้านบน ไม่ให้ไหลลงคลองระบายน้ำแห่งนี้ ระหว่างที่ยังสร้างไม่เสร็จ รวมทั้งต้องเร่งสร้างสะพาน และรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดกับชาวบ้าน
ล่าสุดทราบว่าขณะนี้แขวงทางหลวงชนบท ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมชลประทาน เพื่อให้ก่อสร้างถนน และสร้างสะพานใหม่ ให้น้ำลอดใต้สะพาน ที่มีความกว้างเท่ากับลำคลอง ประมาณ 35 เมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมาประมูลงาน โดยคาดว่าน่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ค. 2565 ซึ่งหากโครงการนี้แล้วเสร็จ ก็จะทำให้น้ำระบายได้ดี และจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในตัว อ.นาโยง และ อ.เมืองตรัง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
ข่าวเมืองตรัง