ศูนย์ดำรงธรรมลงตรวจสอบฟาร์มหมูใน 2 อำเภอ จ.ตรัง ล้มตายจำนวนมาก


  ศูนย์ดำรงธรรมลงตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบหมูที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในฟาร์มพื้นที่ 2 อำเภอของ จ.ตรัง เกิดโรคระบาดล้มตายจำนวนมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ปศุสัตว์ยืนยันไม่เคยมีโรคระบาดมานานแล้ว


จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข่าวหมูทั่วประเทศราคาแพงพุ่งสูงขึ้นรายวัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จนมีการนำเสนอข่าวตรวจสอบตามมา จนกระทั่งทราบว่าประเทศไทยขาดแคลนหมู โดยพบว่าเกิดโรคระบาดในหมู ทำให้หมูล้มตายลงเป็นจำนวนมากในห้วงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยที่กรมปศุสัตว์ปิดข่าวเงียบ ไม่มีการแจ้งเตือนเกษตรกร เช่นเดียวกับ จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบพื้นที่พบว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.รัษฎา และ อ.ห้วยยอด ถูกปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า และพบว่าสาเหตุเกิดจากหมูในฟาร์มล้มตายลงด้วยโรคระบาดเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีภาพถ่ายปรากฏเป็นหลักฐาน และมีร่องรอยการฝังกลบใหม่ในสวนปาล์มน้ำมัน อีกทั้งบางส่วนยังทยอยตายเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเกษตรกรเร่งระบายหมูส่งขาย แต่ข่าวดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมากนั้น

ล่าสุด นายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ได้รับมอบหมายจาก นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด โดยมี นายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง อ.ห้วยยอด และนางพรพรรณ แก้วทอง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ห้วยนาง พาเข้าพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 4 ฟาร์ม โดยส่วนใหญ่ได้พบกับเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และบางฟาร์มไม่พบ ซึ่งทั้ง 4 ฟาร์ม ประกอบด้วย ฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงด้วยทุนเอง และฟาร์มใหญ่เลี้ยงขายส่งบริษัท โดยมีฟาร์มที่พบระบาดรายแรกได้แจ้งการตายของหมูไปยังปศุสัตว์ ส่วนที่เหลือไม่ได้แจ้ง ซึ่งทางเทศบาลยืนยันมีการขออนุญาตจัดตั้งฟาร์มถูกต้องทุกแห่ง

ทั้งนี้ นายภานุวัฒน์ ได้มีการสอบถามข้อมูลต่างๆ ตามที่ได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาจากปศุสัตว์จังหวัด เช่น ที่มาของลูกหมูที่นำมาเลี้ยงว่า เกษตรกรแต่ละรายนำมาจากแหล่งใด มีใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือไม่ และนำลูกหมูที่มีเชื้อเข้ามาเลี้ยงจนทำให้เกิดการระบาดหรือไม่ เพราะจะมีความผิดเท่ากับลักลอบเลี้ยง และถามเหตุผลว่าบางรายทำไมจะไม่รับเงินชดเชย พร้อมให้เกษตรกรรายหนึ่งนำไปดูร่องรอยการฝังว่าใหม่หรือเก่า เพราะในข่าวระบุว่าเป็นร่องรอยใหม่ ทำให้ข่าวที่ออกไปเหมือนกับกำลังระบาดจนทำให้จังหวัดเสียหาย


ขณะที่ผู้สื่อข่าวยืนยันว่าเป็นการนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง เพราะเป็นร่องรอยใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก่อนสิ้นปี 2564 และเกิดโรคระบาดจริง โดยย้อนแย้งกับที่ทางปศุสัตว์ออกมายืนยันว่า จ.ตรัง ไม่เคยมีโรคระบาดในหมูนานานมาก ส่วนลูกหมูเกษตรกรบางรายระบุว่า ซื้อมาจากพื้นที่ อ.รัษฎา พื้นที่รอยต่อ ต.ห้วยนาง ยอมรับไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ และบางรายผลิตลูกหมูเอง ซึ่งหลังจากนี้ ทางศูนย์ดำรงธรรมระบุว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบย้อนรอยแหล่งที่มาของลูกหมูแต่ละฟาร์มว่าเกษตรกรทำผิดหรือไม่ เพราะอาจมีการนำหมูติดเชื้อเข้ามาเลี้ยงเอง และเกษตรกรบางรายที่ไม่มาพบ แสดงว่าทางเจ้าของฟาร์มอาจกระทำความผิด และบางรายมีการเร่งระบายขายหมูไป ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรังในครั้งนี้ ได้ทำให้เกษตรกร และนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง ซึ่งรับฟังตลอดการลงพื้นที่เกิดความไม่พอใจ และยุติการนำตรวจสอบฟาร์มอื่นๆ ที่เหลือใน ต.ห้วยนาง และ อ.รัษฎา ในทันที โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางศูนย์ดำรงธรรมบอกว่าจะมาตรวจสอบเรื่องการเกิดโรคระบาด แต่พอลงพื้นที่จริงกลับพุ่งเป้าตรวจสอบเฉพาะเกษตรกร และไม่ค่อยให้ความสนใจในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการควบคุมป้องกันโรค แต่มุ่งจะเอาผิดเกษตรกรที่ซื้อลูกหมูจากอำเภอข้างเคียงมาเลี้ยงโดยไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายหมู หรือจะเอาผิดคนไม่แจ้งว่าหมูตาย และจะเอาผิดเกษตรกรที่เร่งระบายหมูขายให้พ่อค้าใน จ.นครปฐม ว่าเป็นการทำความผิดตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนแสนสาหัส ทุกคนเป็นหนี้ บ้านที่ดินจำนอง จนบางคนล้มป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว

โดยเกษตรกร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ห้วยนาง ยืนยันว่า การเกิดโรคระบาดในหมูในพื้นที่ ต.ห้วยนาง เกิดขึ้นรายแรกในเดือนกันยายน 2564 ในฟาร์มของ นายโกสิทธิ์ รอดหาญ อายุ 54 ปี โดยมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้เข้ามาตรวจสอบ และมีการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบ ซึ่งระบุเบื้องต้นกับเกษตรกรว่า หมูเป็นโรคระบาด สั่งให้เร่งฝังทำลายทั้งหมดในทันที พร้อมมายืนกำกับควบคุมการฝังรวมประมาณ 100 ตัว ทั้งแม่พันธุ์ และสุกรขุน แต่จนถึงขณะนี้ทางปศุสัตว์ยังไม่ได้แจ้งผลว่าหมูเกิดโรคระบาดอะไร และหลังจากนั้นไม่ได้ดำเนินการใดๆ เช่น ไม่มีการออกคำสั่งประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาดในหมู ไม่มีคำสั่งประกาศควบคุมพื้นที่ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่มีการออกประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรรายอื่นๆ ให้ป้องกัน จนทำให้โรคระบาดลามไปทั้งหมด 13 ฟาร์มของ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด หมูตายไปประมาณ 3,500 ตัว

โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ห้วยนาง พบหมู 3 ตัวสุดท้ายตาย และถูกฝังลงเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นในห้วงระยะเวลาประมาณเดือนกันยายนถึงธันวาคม เชื้อยังได้ลุกลามไปติดฟาร์มหมูในพื้นที่ อ.รัษฎา อีกหลายฟาร์ม รวมทั้งหมูพื้นบ้านที่เกษตรกรเลี้ยงปล่อยทุ่งในพื้นที่ ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน มีเกษตรกรบางรายเก็บตัวอย่างเลือดหมูส่งไปตรวจพิสูจน์หาสายพันธุ์ของเชื้อที่ห้องแล็บเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ผลปรากฏว่าโรคระบาดในหมูของฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ห้วยนาง ติดเชื้อ ASF และเชื่อว่าฟาร์มอื่นๆ ก็คงเป็นโรคชนิดเดียวกัน ขณะที่ปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นใน จ.ตรัง มานานมาก แม้กระทั่งก่อนสิ้นปี 2564 ก็ตาม


ทั้งนี้ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง จึงได้เรียกร้องผ่านทางผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม และตั้งคำถามรวม 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ขอให้เปิดเผยผลตรวจเลือดหมูที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปเก็บตัวอย่างว่าเป็นโรคระบาดอะไร เพื่อตนจะได้แจ้งชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป เพราะที่เกษตรกรเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจเองพบเป็นเชื้อ ASF 2.การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าข่ายละเว้นหรือไม่ ในการกำกับ ป้องกัน และควบคุมโรค เพราะหลังรับแจ้งการเกิดโรคระบาดในฟาร์มแรก แม้จะเข้ามาตรวจสอบ แต่กลับเงียบไม่ดำเนินการใดๆ จนโรคระบาดลุกลามไปสู่ฟาร์มอื่นๆ 3.ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ระบาดไปสู่ จ.นครปฐม ซึ่งใครเป็นคนออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย และไม่มีการควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ต้น และ 4.ขอให้เร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และหากทางจังหวัดมุ่งแต่จะเอาผิดเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทั้งหมดสิ้นเนื้อประดาตัว สูญเงินไปรายละ 5 แสนถึง 6 ล้านบาท ก็พร้อมจะเดินทางเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อชี้แจงเรื่องทั้งหมดด้วยตนเองต่อไป

ด้านนายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้ลงพื้นที่มาแสวงหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต.ห้วยนาง รวมทั้งหมด 4 แห่ง เฉลี่ยเลี้ยงหมูฟาร์มละประมาณ 300-400 ตัว ฟาร์มที่ใหญ่สุดประมาณ 600 ตัว ทุกฟาร์มที่เห็นคือไม่มีหมูเหลืออยู่ในฟาร์มเลย สอบถามผู้ดูแลฟาร์มได้รับคำตอบว่าหมูได้ล้มตายลงในห้วงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ติดต่อกันมาโดยตลอด และรุ่นสุดท้ายพบว่าในฟาร์มของ นายวุฒทยา รัตนพันธ์ฟาร์ม ยังตายลง และเกษตรกรเพิ่งฝังดินเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ส่วนข้อมูลเบื้องลึกต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จะได้มีการสั่งการลงมาอีกครั้งหนึ่ง

แต่ในความคิดเห็นส่วนตัว ในห้วงที่เกิดเหตุลักษณะนี้ ทางภาคราชการควรจะมาดูแลอย่างทั่วถึงและใส่ใจ เพื่อที่จะได้ชี้แนะ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรต่างๆ ได้ เพราะบางคนเลี้ยงด้วยต้นทุนของตัวเอง บางคนเอาที่ไปจำนองเป็นหนี้เป็นสิน ทุกฝ่ายควรจะมานั่งคุย และหารือร่วมกันกับภาคเกษตรกร ทั้งฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ควรจะมาใส่ใจ เพราะว่าเมื่อเกิดการระบาดขึ้นสักที่ก็จะระบาดไปยังที่อื่นๆ ได้ทั้งหมด อีกทั้งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรกลัวความผิด ไม่กล้าแสดงตัว ก็เป็นช่องว่าง แต่ถ้ายกข้อกฎหมายด้วยความใส่ใจจะสามารถช่วยบรรเทาเบาบางลงได้ และควรจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตรงจุดนี้น่าจะช่วยได้ดีที่สุด

ส่วนการตรวจสอบการทำงานของทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์นั้น ตนเองจะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อพิจารณาดูว่าควรจะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งการเยียวยาเกษตรกรทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่












    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า