บริษัทนูราลิงค์(Neuralink)พัฒนาไมโครชิปติดสมองของ อิลอน มัสค์ ล่าสุดกำลังถูกตรวจสอบจากกลุ่มปกป้องสิทธิสัตว์ พบโปรเจกต์การทดลองลิงร่วมกับมหาวิทยาลัย UCDAVIS ชื่อดังในสหรัฐฯเป็นต้นเหตุทำให้ลิงถึง 15 ตัวเสียชีวิต สภาพการทดลองสุดโหดร้ายพบลิงอยู่ระหว่างการทดลองทำให้นิ้วมือและนิ้วเท้าตัวเองขาด บริเวณศรีษะมีน็อตเหล็กฝังเข้ากับกระโหลกมีความทรมานบริเวณใบหน้า เกิดอาการชักตามมาหลังการปลูกฝังวัสดุที่ศรีษะด้วอีเลคโตร๊ดและมีการติดเชื้อที่บริเวณถูกปลูกฝังวัสดุ
นิวยอร์กโพสต์ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี(10 ก.พ)ว่า บริษัทนูราลิงค์ (Neuralink)ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้สมองมนุษย์มีศักยภาพคล้ายกับคอมพิวเตอร์มีความฉลาดแบบไฮเปอร์และผู้ป่วยอัมพาตสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งแต่ทว่ากลายเป็นข่าวดังไปทั่้ว
กลุ่มเอ็นจีโอต่อต้านการใช้สัตว์เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีฐานอยู่ในวอชิงตัน "คณะกรรมการแพทย์เพื่อความรับผิดชอบทางการแพทย์" อักษรย่อคือ PCRM มาจาก Physicians Committee for Responsible Medicine และทางกลุ่มมีสมาชิกเป็นแพทย์วิชาชีพจำนวนไม่ต่ำกว่า 17,000 คนอ้างอิงจากเว็บไซต์ขององค์กร
พบว่ากลุ่มได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ USDA ในวันพฤหัสบดี(10) ฟ้องร้องต่อมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส UCDAVIS ให้ทำการสอบสวนและชี้ว่ามีการละเมิด 9 ข้อของกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ของสหรัฐฯ ( federal Animal Welfare Act ) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความเจ็บปวดของสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์
บิสซิเนสอินไซเดอร์รายงานว่า รายละเอียดการละเมิดรวมไปถึง นักวิจัยไม่พยายามทำให้สัตว์ทดลองมีความเจ็บปวดหรือความเครียดน้อยลงระหว่างการทดลอง การละเมิดต่อข้อกำหนดให้เฝ้าสังเกตประจำวันและนักวิจัยต้องทำตามวิจัยของสัตวแพทย์ในการใช้ยานอนหลับให้กับสัตว์ทดลอง และอื่นๆ
องค์กรคณะกรรมการแพทย์ PCRM กล่าวว่า การละเมิดเกิดขึ้นในห้องวิจัยการทดลองของมหาวิทยาลัย UCDAVIS ที่ได้รับเงินทุนการวิจัยจากบริษัทนูราลิงค์ของมัสค์จำนวน 1.4 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2017 - 2020 สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์โดยใช้ลิงจำนวน 23 ตัวเข้าร่วม และมีไม่ต่ำกว่า 15 ตัวที่เสียชีวิตหรือถูกกำจัดให้เสียชีวิต ซึ่งบิสซิเนสอินไซเดอร์ชี้ว่า มีลิงทดลองที่มีชีวิตรอดเพียงแค่ 7 ตัวเท่านั้นในท้ายที่สุด
โดยในคำร้องของกลุ่มเอ็นจีโอที่ฟ้องระบุว่า คำร้องของพวกตนอ้างอิงมาจากรายงานที่มีเนื้อหาสุดตระหนกและน่ากังวลจำนวน 600 หน้ารายงานเกี่ยวกับสภาพลิงทดลองของโครงการนูราลิงค์ เป็นต้นว่าลิงส่วนใหญ่ในจำนวน 23 ตัวอยู่ในสภาพที่มีบางส่วนของหัวกะโหลกถูกเปิดออก
บนเว็บไซต์ขององค์กรคณะกรรมการแพทย์ PCRM ชี้ว่า ในคำร้องแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่นักวิจัย UCDAVIS และนักวิทยาศาสตร์ของนูราลิงค์ใช้ "สิ่งที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯในการทดลอง"
โดยกล่าวว่าคนเหล่านี้ไม่ได้ให้การรักษาทางการแพทย์อย่างเพียงพอแก่ลิงทดลองที่กำลังใกล้ตาย มีการใช้ "ไบโอกลู" (Bioglue) ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้กับลิงทดลองกำลังใกล้เสียชีวิตที่ทำให้ฆ่าลิงด้วยการทำลายบางส่วนของพื้นที่สมองของพวกมันและไม่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจแก่ลิงในการทดลองเหล่านี้
ทางกลุ่มกล่าวว่า ลิงทดลองสายพันธุ์แม็กแคก (Macaques) ที่ใช้ในการทดลองถูกขังเดี่ยวตามลำพัง และบริเวณศรีษะมีน็อตเหล็กฝังเข้ากับกระโหลกศรีษะโดยพวกมันมีความทรมานบริเวณใบหน้า เกิดอาการชักตามมาหลังการปลูกฝังวัสดุที่ศรีษะด้วอีเลคโตร๊ดและมีการติดเชื้อที่บริเวณถูกปลูกฝังวัสดุ อ้างอิงจากรายงานบนเว็บไซต์ของ PCRM
นิวยอร์กโพสต์ชี้ว่า นอกเหนือจากนี้ยังพบว่ามีลิง 1 ตัวจากทั้งหมดไม่มีนิ้วมือและนิ้วเท้าและขาดในสภาพที่มีความเป็นไปได้ว่าลิงกัดหรือเจ้าตัวดึงขาดออกเองหรือตกอยู่ในสภาพโหดร้ายอื่นๆ แต่หลังจากนั้นลิงตัวนี้ถูกสั่งทำลายไป
ในรายงานของกลุ่มยังกล่าวว่า พบลิงทดลองตัวหนึ่งมีกระโหลดศรีษะถูกเจาะเป็นรูและถูกติดอีเลคโตร๊ด (electrode) เข้าไปที่ส่วนสมองของลิงส่งผลทำให้ลิงเกิดภาวะการติดเชื้อทางผิวหนังขั้นรุนแรงและทำให้ทางผู้วิจัยต้องทำลายลิงตัวนี้ทิ้ง
ตัวอย่างที่คล้ายกันนี้พบในลิงแม็กแคกเพศเมียตัวหนึ่งที่ถูกติดอีเลคโตร๊ดที่ส่วนสมองเช่นกัน และพบลิงตัวนี้ต้องทรมานกับการอาเจียน สะอึก และตกอยู่ในสภาพพยายามหายใจเอาอากาศเข้าไป แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นนักวิจัยเขียนระบุลงไปว่า "ดูเหมือนว่าลิงเพศเมียตัวนี้จะสลบเนื่องมาจากอาการอ่อนเพลียอย่างหนัก"
และในท้ายที่สุดมันถูกสั่งกำจัดเช่นเดียวกับเพื่อนตัวอื่นๆ อ้างอิงจากรายงานการชันสูตรพบว่าลิงตัวนี้เสียชีวิตจากเลือดออกในสมอง( brain hemorrhage)
เจรามี เบ็คแฮม (Jeremy Beckham) ผู้อำนวยการองค์กรองค์กรคณะกรรมการแพทย์ PCRM ที่เป็นผู้ยื่นฟ้องกล่าวว่า "ลิงเกือบทุกตัวที่มีการฝังทางสมองจะได้รับผลกระทบจากสุขภาพอ่อนแอ" และกล่าวต่อว่า "อย่างตรงไปตรงมาแล้วคนพวกนี้ทำให้(สัตว์ทดลอง)บาดเจ็บ ฆ่าพวกมัน"
การยื่นเรื่องเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายต่อมหาวิทยาลัย UCDAVIS ในวันพฤหัสบดี(10)ที่ศาลสหรัฐฯเพื่อร้องขอให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดเผยภาพถ่าย วิดีโอ และข้อมูลเกี่ยวข้องกับทางทดลองมากขึ้น เกิดขึ้นในขณะที่นูราลิงค์กำลังวางแผนที่จะเริ่มต้นเฟสการทดลองกับมนุษย์ โดยมัสค์ได้เคยกล่าวล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาต้องการให้นูราลิงค์เริ่มต้นเฟสทดลองเครื่องมือกับมนุษย์ในปี 2022
ทั้งนี้โฆษกมหาวิทยาลัย UCDAVIS ได้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กโพสต์ว่า ความร่วมมือระหว่าง UCDAVIS และนูราลิงค์ได้สิ้นสุดลงมาตั้งแต่ปี 2020 แล้วและคณะกรรมการ Institutional Animal Care and Use Committee ของมหาวิทยาลัยได้ทำการพิจารณาอย่างรอบคอบและอนุมัติโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับนูราลิงค์
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
ข่าวทั่วทิศ