“มะพร้าวไทย” มีโอกาสขายจีนเพิ่ม รองรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโตแรง


 “ทูตพาณิชย์ชิงต่าว” สำรวจตลาดมะพร้าวในจีน พบยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก หลังอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจีนเติบโตแรง ทำให้มีความต้องการมะพร้าวสูงขึ้น แถมผลผลิตในประเทศก็มีไม่เพียงพอ ชี้เป็นโอกาสส่งออกมะพร้าวของไทยได้เพิ่มขึ้น แนะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ไลฟ์สด ขยายตลาด


น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยถึงการติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดจีน ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ว่า สำนักงานฯ ได้ทำการติดตามการนำเข้ามะพร้าวของจีนในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีการนำเข้า 872,000 ตัน เพิ่มขึ้น 37.4% มีมูลค่ารวม 451.74 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 284.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 49.41% สัดส่วน 62.89% ของการนำเข้าทั้งหมด และอินโดนีเซียมูลค่า 116.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 67.04% สัดส่วน 25.84% ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 88% ของการนำเข้าทั้งหมด ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

สาเหตุที่จีนมีการนำเข้ามะพร้าวเพิ่มสูงขึ้น มาจากในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ในตลาดจีนมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมะพร้าวมากกว่า 130 รายการ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่อย่างแบรนด์ Hey Tea แบรนด์ Nayuki แบรนด์ LELECHA แบรนด์กาแฟ Luckin Coffee และแบรนด์อาหารฟาสต์ฟูดชื่อดังอย่าง KFC ก็ได้มีการเปิดตัวเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวมากกว่า 20 รายการ โดยยกตัวอย่างเครื่องดื่มรสชาติมะพร้าวที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน เช่น กาแฟลาเตมะพร้าว นมมะพร้าว นมกะทิ เป็นต้น ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้บางชนิดสามารถจำหน่ายได้ถึง 100,000 แก้วภายในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จีนยังมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ โดยมณฑลไห่หนาน ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ก็ผลิตได้เพียง 250 ล้านลูกต่อปี แต่จีนมีความต้องการใช้มะพร้าวถึง 2,600 ล้านลูกต่อปี และยังมีความต้องการใช้มะพร้าวในการแปรรูปถึง 150 ล้านลูก ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มภายในประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อวัตถุดิบที่มีความเป็นธรรมชาติ มีคุณค่าทางโภชนาการ มีไขมันต่ำ และมีรสชาติอร่อย ทำให้มะพร้าวเริ่มกลายเป็นผลไม้เมืองร้อนอีกชนิดหนึ่งที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ


น.ส.ชนิดากล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามะพร้าวเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของจีน โดยมีการนำมะพร้าวมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลมอย่างแพร่หลาย รวมถึงน้ำมะพร้าวสดก็ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีความเป็นธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้มะพร้าวเป็นผลไม้ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ที่หันมารักสุขภาพ และสามารถเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ตลาดมะพร้าวของจีนจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามองและยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากจีนมีความต้องการบริโภคมะพร้าวต่อปีเป็นจำนวนมาก แต่มีปริมาณผลผลิตเพียง 10% จีนจึงต้องพึ่งพาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค

สำหรับสถานการณ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดจีน พบว่า มะพร้าวไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เกต ร้านจำหน่ายผลไม้ทั่วไป และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยรูปแบบของมะพร้าวไทยในตลาดจีนนอกจากน้ำมะพร้าวบรรจุขวด กล่องแล้ว ก็เริ่มมีการพัฒนามะพร้าวสดทั้งลูกให้สามารถรับประทานน้ำได้ทันที โดยมีการเจาะรูสำหรับมะพร้าวทั้งลูก ซึ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคชาวจีนที่ต้องการรับประทานน้ำมะพร้าวสดจากลูกได้เป็นอย่างดี โดยพบว่ามะพร้าวสดในซูเปอร์มาร์เกตมีราคาจำหน่ายราคาลูกละประมาณ 20-25 หยวน หรือประมาณ 106 -132.50 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงในตลาดจีน

โดยผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาขยายตลาดมะพร้าวในจีน สามารถพิจารณาแสวงหาช่องทางในการเจาะตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยให้มีความหลากหลายและโดดเด่น เพื่อดึงดูดความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่มีความนิยมและชื่นชอบมะพร้าวของไทยอยู่แล้วให้มากขึ้น และควรพิจารณาร่วมมือกับผู้นำทางความคิด (KOL) และผู้รีวิวสินค้า (KOC) ในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆๆ ของจีน รวมทั้งพิจารณาใช้วิธีการถ่ายทอดสด (Live Streaming) แนะนำสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยอดนิยม ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามเทศกาลสำคัญต่างๆ ของจีน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนให้มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีน รักษาส่วนแบ่งการตลาด และเป็นตลาดนำเข้ามะพร้าวอันดับหนึ่งของจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า