มทร.จับมือ
สกว.สร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กลุ่มจักสานก้านจากบ้านนายยอดทอง
อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อช่วยเพิ่มยอดผลิต “ติหมา” ให้สูงขึ้นกว่าเดิม 4 เท่า
โกยรายได้เข้าชุมชนหลายล้านบาท
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) นำโดย ผศ.นพดล โพชกำเนิด ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้าไปศึกษา และทำวิจัยการแก้ปัญหาการผลิต “ติหมา” ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ ด้วยการสร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พลังงานจากลมร้อน ให้แก่กลุ่มจักสานก้านจากบ้านนายยอดทอง ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มประสบปัญหาเกี่ยวกับการแปรรูป หรือการตากติหมาให้แห้งทันตามความต้องการของตลาด จึงส่งผลให้การผลิตทำได้อย่างจำกัด เนื่องจาก จ.ตรัง มีภูมิอากาศที่มีฝนตกตลอดทั้งปี
ผศ.นพดล โพชกำเนิด ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชีวภาพ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ผลจากการทำวิจัยเรื่องการสร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้พลังงานจากลมร้อน ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง ทำให้ติหมาแห้งทันตามความต้องการของลูกค้า และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างใด เพราะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมร้อนเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ เลย จึงสามารถเพิ่มจำนวนยอดการผลิตติหมาให้สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 4 เท่า หรือผลิตได้ถึงปีละ 2 แสนใบ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 2 ล้านบาทเลยทีเดียว
“ติหมา” เกิดขึ้นจากการนำส่วนยอดของต้นจากที่เหลือใช้ มาจักสานเป็นถังน้ำ เพื่อใช้ตักน้ำขึ้นจากบ่อ หรือวิดน้ำออกจากเรือในสมัยโบราณ กระทั่งต่อมา เมื่อมีการนำถัง และพลาสติกเข้ามาใช้แทนที่ ทำให้ติหมาเริ่มสูญหายไปจากท้องถิ่น มีเพียงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนายอดทอง ที่ยังคงรวมตัวกันสืบสานการทำติหมา และนำไปแปรรูปเป็นภาชนะใส่น้ำหวาน น้ำแข็งใส ไอศกรีม ขนมและอื่นๆ เนื่องจากขณะนี้กระแสวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแรง จึงทำให้ตลาดย้อนยุค ตลาดน้ำ ตลาดประชารัฐ ตลาดต้องชมจากทั่วประเทศ สั่งซื้อติหมาเข้ามาจำนวนมาก รวมทั้งยังส่งขายไปยังหลายประเทศด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
