ผอ.ท่าอากาศยานตรังเสนอกรมท่าอากาศยานแก้ปัญหาผลกระทบเครื่องบินขึ้นลง


ผอ.ท่าอากาศยานตรังแจงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน 30 ครัวเรือน กรณีเครื่องบินขึ้นลงทำให้บ้านเสียหาย ได้ส่งเรื่องให้กรมท่าอากาศยานเพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาแล้ว
วันนี้ (1 เม.ย.) จากกรณีปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับสนามบินตรัง พื้นที่หมู่ 12 ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 30 ครัวเรือน รวมประมาณ 100 คน ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาการขึ้นลงของเครื่องบิน ทำให้บ้านเรือนแตกร้าวจนได้รับความเสียหายตลอดระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี โดยที่ทางท่าอากาศยานไม่เคยเข้าไปช่วยเหลือ 
ประกอบกับทางกรมท่าอากาศยานเตรียมขยายสนามบินตรังให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 40 เที่ยวบิน ชาวบ้านจึงหวั่นว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรง เพราะขณะนี้ทุกหลังคาเรือนต้องเสียค่าซ่อมแซมมาแล้วจำนวนมาก แถมบางหลังต้องยอมทิ้ง เพราะไม่มีเงินซ่อมแซม ประกอบกับเกิดปัญหาทางสภาพจิตใจย่ำแย่ เนื่องจากได้ผลกระทบทางเสียง จนกินไม่ได้นอนไม่หลับด้วยนั้น
พันจ่าเอกเมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า ทางท่าอากาศยานก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ประมาณ 30 ครัวเรือน หรือเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ จากผลกระทบต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน จึงให้ชาวบ้านทำหนังสือพร้อมถ่ายภาพส่งไปยังกรมท่าอากาศยาน เพื่อเป็นส่วนประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

แต่การแก้ปัญหาด้วยการเวนคืนที่ดิน แล้วให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่น จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องอยู่ในกรอบระเบียบของทางราชการ จึงได้ส่งเรื่องให้บริษัทที่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีโครงการขยายสนามบินนำข้อมูลไปตรวจสอบ เบื้องต้นทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวทางบริษัทยังไม่ได้เข้าไปตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน เพราะอยู่นอกกรอบพื้นที่จะใช้ขยาย แต่ถ้าชัดเจนว่าได้รับผลกระทบจากสนามบินก็ต้องไปดูเพิ่มเติม และขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ ต้องรอกรมท่าอากาศยานพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน 30 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบก็ออกมาวิงวอนอีกครั้งนี้ว่า ขอให้กรมท่าอากาศยานช่วยเวนคืนที่ดินในส่วนนี้ไปด้วย เพราะหากใช้วิธีเยียวยาด้วยการนำเงินมาซ่อมแซมบ้าน คงไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ ยิ่งในอนาคตหากมีการขยายสนามบินใหญ่ขึ้น เครื่องบินเยอะขึ้นและลำใหญ่ขึ้น ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่สำรวจชุดแรกไม่ได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่บริเวณนี้เลยว่าชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้ว เพราะไม่ได้ลงสำรวจจริง แต่มาคิดเอาเองว่าพื้นที่ทั้ง 19 ไร่ เป็นที่ราชพัสดุ 
กระทั่งพอทางชาวบ้านยื่นหนังสือทักท้วงไปในภายหลัง จึงได้มาดูแต่ก็ช้าไปแล้ว แถมยังมาบอกว่าอยู่นอกเขตเวนคืน ไม่มีงบประมาณ และไม่มีรองกฎหมายรองรับ ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดของบริษัทศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำงานไม่ครอบคลุม อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนใน 1 เดือน พวกตนก็จะยื่นหนังสือร้องเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
            
           
          
         
        
       
      
     
   
   

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า