ฝากดูแล “เจ้ามาเรียม” หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย “เจ้าโทน” พะยูนแสนรู้ตัวแรกทะเลตรัง


อดีตคนเคยเลี้ยง “เจ้าโทน” พะยูนแสนรู้ตัวแรกแห่งทะเลตรัง ที่เข้ามาเกยตื้นเมื่อปี 2535 ก่อนตายลงเพราะติดเครื่องมือประมง ฝากเจ้าหน้าที่ดูแล “เจ้ามาเรียม” อย่าให้เกิดเหตุเศร้าแบบเดิมซ้ำอีก
นายยาเหตุ หะหวา อายุ 62 ปี ชาวบ้านบ้านเจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นำกระดูกส่วนสันหลังของ “เจ้าโทน” พะยูนน้อยแสนรู้ตัวแรกแห่งท้องทะเลตรัง เมื่อปี 2535-2536 ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยไปเก็บกลับมาจากโรงเรียนบ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง หลังนำไปจัดแสดงไว้ให้เด็กๆ ได้ดูทั้งตัว แต่ต่อมากลับสูญหายเกือบหมดจนเหลือเฉพาะกระดูกส่วนสันหลัง จึงเก็บกลับมาไว้เป็นหลักฐาน และเป็นที่ระลึกถึงเจ้าโทน
โดย นายยาเหตุ เล่าว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2535 ช่วงขณะน้ำลง ขณะที่ลูกชายกับเพื่อนเดินหาหอยชักตีนอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลหน้าหมู่บ้าน ปรากฏว่าไปพบเจอพะยูนน้อยตัวหนึ่ง อายุไม่ถึง 2 ปี เกยตื้นอยู่ จึงช่วยเหลือพากันนำกลับลงน้ำ หลังจากนั้นเมื่อตนเอง และชาวบ้านลงไปเล่นน้ำทะเลบริเวณดังกล่าว เจ้าโทนแรกเริ่มยังไม่คุ้นคนก็จะว่ายน้ำหนี แต่เมื่อพบเจอคนทุกวัน และเริ่มคุ้นเคยก็ว่ายน้ำเข้ามาหา ยอมเล่นด้วย จนกระทั่งยอมให้อุ้ม ให้กอด จึงช่วยกันตั้งชื่อว่า “เจ้าโทน” เพราะอาศัยอยู่เพียงลำพังตัวเดียว
หลังๆ มาเมื่อตนเองหรือชาวบ้านที่คุ้นเคยบางคนเรียกชื่อหา เจ้าโทนๆๆ เจ้าโทน ซึ่งกินหญ้าอยู่บริเวณใกล้ๆ ก็จะยกหางตีน้ำตอบกลับมาว่าอยู่ตรงไหน แล้วว่ายน้ำมาหา หรือบางคนใช้มือตบผิวน้ำเบาๆ เจ้าโทนก็จะว่ายน้ำมาหา โดยชาวบ้านได้เลี้ยงเจ้าโทนอยู่ได้เกือบ 1 ปี มันก็ตายลงเพราะถูกเครื่องมือประมง ขณะที่มีน้ำหนักหนักประมาณ 47 กิโลกรัม และยาวประมาณ 147 เซนติเมตร

สำหรับความแตกต่างระหว่างเจ้าโทน กับเจ้ามาเรียม พะยูนน้อยแสนรู้ตัวล่าสุดของ จ.ตรัง ก็คือ เจ้าโทนเป็นพะยูนเพศผู้ และมีอายุมากกว่าเจ้ามาเรียม อีกทั้งขณะนั้น เจ้าโทนได้หย่านมแม่แล้ว และกินหญ้าทะเลเองในธรรมชาติเป็นแล้ว ขณะที่เจ้ามาเรียมยังเล็ก ต้องอาศัยคนป้อนนม และกำลังฝึกหัดกินหญ้า แม้ตนเองจะดีใจมากที่เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านร่วมกันดูแลเจ้ามาเรียมอย่างดีเหมือนลูก แต่ที่เป็นห่วงคือ เราจะปล่อยให้เจ้ามาเรียมออกไปหากินข้างนอกไม่ได้ เพราะเชื่อว่ามันจะคุ้นคน และจะต้องเข้าหาคน เข้าหาเรือ หากปล่อยให้เจ้ามาเรียมออกไปไกลในธรรมชาติ มันจะต้องตายเพราะติดเครื่องมือประมงแน่นอน
“จึงอยากให้ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เจ้ามาเรียมออกไปไกล และอย่าให้เรือใดๆ เข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่เจ้ามาเรียมอาศัยอยู่ เพราะลักษณะนิสัยของพะยูน หากอยู่บริเวณไหนจะอยู่บริเวณนั้น นอกจากช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่จะออกไปไกล ส่วนเรื่องการเกยตื้นถ้าเจ้าหน้าที่จัดเวรยามลาดตระเวน และตามหาเจ้ามาเรียม เจอทุกครั้งมันก็จะไม่ตาย แต่หากหาตัวไม่พบ และเกยตื้นเป็นเวลานานจนผิวแห้ง เจ้ามาเรียมก็อาจจะตายได้ เช่นเดียวกับชาวบ้านบ้านเจ้าไหมคนอื่นๆ ที่เคยคลุกคลีกับเจ้าโทน ต่างก็รู้สึกกังวลห่วงเจ้ามาเรียม เพราะจะไม่ปลอดภัยจากเรือ หากมันต้องออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติ” นายยาเหตุ กล่าว

ด้าน นางเพลินใจ ชาญเสนาะ อายุ 71 ปี ตัวแทนสมาคมหยาดฝน ซึ่งเคยเป็นองค์กรที่เดินหน้าทำกิจกรรมอนุรักษ์หญ้าทะเลอย่างจริงจัง และต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง ได้นำภาพเด็กๆ ที่ถ่ายกับเจ้าโทน ที่บ้านเจ้าไหม ต.เกาะลิบง มาเปิดให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี 2534 สมาคมหยาดฝน ได้เดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันปลูก และอนุรักษ์หญ้าทะเลอย่างจริงจัง แต่ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจหรือให้ความสำคัญมากนัก

จนปลายปี 2535 เมื่อเจ้าโทน ซึ่งเข้ามากินหญ้าริมชายฝั่งมาเกยตื้น ทำให้ชาวบ้านได้คลุกคลี และรู้จักพะยูน ทุกคนจึงรู้สึกรักเจ้าโทนมาก จนเมื่อเจ้าโทนมาตายเพราะติดอวน ชาวบ้านต่างร้องไห้เสียใจกันทั้งหมู่บ้าน นับจากนั้นมาการอนุรักษ์หญ้าทะเล และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งก็เข้มแข็งขึ้นทันที เพราะประชาชนเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้น มีสื่อ และรายการทีวีมาถ่ายทำไปออกข่าว จึงทำให้คนรู้จัก และรักพะยูนไปทั่วประเทศ พร้อมอยากบอกให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลอื่นที่เป็นต้นเหตุให้หญ้าทะเลตาย เพราะหากหญ้าทะเลตายรากจะเน่า โอกาสฟื้นตัวยากมาก และจะส่งผลเสียต่อพะยูนในอนาคต









ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า