พิษเสาไฟระบาด พบโซลาร์เซลล์ต้นละ 2 แสน อบต.สุโสะเผยตอนสั่งไม่มีความรู้ ไม่ได้เอื้อกำหนดราคาใคร


พิษเสาไฟระบาด พบโซลาร์เซลล์ต้นละ 2 แสน อบต.สุโสะเผยตอนสั่งไม่มีความรู้ ไม่ได้เอื้อกำหนดราคาใคร แค่อยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ อีกที่ทุ่งแจ้งเสาไฟประติมากรรมหงส์ทอง ต้นละ 1 แสน ถอดทิ้งซุกคากองบ่อขยะ ป.ป.ช.ตรัง ลุยตรวจเรียกเทศบาลนครตรังเข้าชี้แจง ปลัดเผยถอดทิ้งเพราะชำรุดเสียหาย ปัดเอื้อประโยชน์ให้ใคร
วันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวลงพื้นบ่อน้ำพุร้อนเค็มควนสระในพื้นที่ หมู่ 4 และหมู่ 6 บ้านควนสระ ต.สุโสะ อ.ปะเหลียนเพื่อตรวจสอบโครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ของ อบต.สุโสะ ใช้งบประมาณไป 494,000 บาท ติดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการ ที่ดำเนินการติดตั้งเสาไฟโซล่าเซลล์ในลักษณะเดียวกัน งบประมาณโดยรวมทั้งหมด 4 โครงการประมาณ 1.8 ล้านบาท และมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับงานไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามในเพจ“ชมรม STRONG ต้านทุจริตภาคใต้” และมีการเทียบเคียงราคาตลาดที่มีการขายกันทั่วไปในเว็บไซต์ต่าง ๆในอินเทอร์เน็ต ซึ่งปรากฏว่าราคาอยู่เพียงแค่หลักพันบาทเท่านั้น
ทางนายเด่นทยา วุ่นแก้ว ปลัดอบต.สุโสะเปิดเผยว่าการสร้างโซลาเซลล์นั้น เพราะเป็นความต้องการของชาวบ้าน ในช่วงนั้นทางหน่วยงานกำลังปรับปรุงบ่อน้ำพุเค็ม ซึ่งเป็นบ่อที่ใช้บำบัดรักษาอาการปวดเมื่อย มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเยอะ กว่าจะใช้บริการเสร็จก็อยู่ในช่วงดึกแล้ว ถนนสายดังกล่าวมืดมาก จึงต้องอาศัยไฟโซลาเซลล์ในการเพิ่มแสงส่องสว่าง ให้ความสะดวกสบายแก่ประชาชน จึงสร้างมา 3 เสาใช้งบประมาณไป 4 แสนกว่าบาท บางคนอาจมองว่าไม่คุ้มทุน แต่สำหรับชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยขน์อย่างน้อยก็มีแสงสว่าง สามารถมองเห็นว่ามีใครมาทำอะไรในชุมชนบ้าง ทางชุมชนก็พึงพอใจ
นายเด่นทยากล่าวอีกว่าที่ผ่านมาทางอบต.ไม่มีความชำนาญด้านโซลาเซลล์ จึงได้ไปสอบถามเรื่องวัสดุกับร้านค้า 3 ร้าน จนได้ราคากลางตามระเบียบ นายช่างที่ทำการกำหนดราคาไม่ได้มีความตั้งใจจะกำหนดให้ใครได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องใหม่ไม่มีความชำนาญจึงกำหนดราคาไปแบบนั้นมากกว่า
ทางนายอับดุลการิม ใจสมุทร อายุ 64 ปี ผู้ประสานงานโรงการบ่อน้ำพุร้อนเค็มกล่าวว่า ชาวบ้านได้รับไฟโซลาเซลล์มาตั้งแต่ปี 62 ตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มทำบ่อน้ำร้อนได้ประมาณเกือบ 1 ปี เป็นความต้องการของชาวบ้านที่อยากได้ไฟฟ้าส่องสว่าง งบประมาณของอบต.สุโสะก็มีน้อย กว่าจะได้ไฟก็ต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะได้ใช้ ช่วงแรกใช้ไฟได้แค่ถึงประมาณ 4 ทุ่ม ไฟเริ่มอ่อนลงแล้ว เพราะหม้อแบตเตอรี่ไม่สามารถเก็บไฟตามที่ระบุไว้ ตอนนั้นตนไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเก็บไฟไม่ได้ แต่ก็มองในแง่ดีคือไฟจากโซลาเซลล์ช่วยสนับสนุนบ่อน้ำพุร้อนเค็ม ตอนนี้ระบบไฟกลับมาปกติแล้ว ใช้ได้ทั้งคืนจนถึงช่วงเกือบ 6 โมงเช้าแล้ว ส่วนราคาต้นทุนการผลิต ตนไม่คิดว่าแพง เพราะเราใช้ได้ตลอดโดยไม่เสียค่าไฟ เป็นพลังงานทางเลือกที่ดีของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ จากที่เปลี่ยวก็กลายเป็นชุมชนเมือง คนสัญจรผ่านไปมามากขึ้น
นายสุรินทร์ แนมไสย ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จ.ตรังเผยว่า ทางหน่วยงานได้เข้าไปตรวจสอบหลังมีประชาชนตั้งข้อสงสัย เบื้องต้นทางอบต.ได้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนถูกต้องทุกอย่าง ไม่ได้ปฎิบัตินอกเหนือจากหลักเกณฑ์ เพราะมีการสุ่มราคาแล้วจำนวน 3 ร้าน ไม่เข้าพฤติการณ์การทุจริต เพียงแต่ไม่ได้รอบคอบและไม่มีการกำหนดราคากลาง และอบต.ได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาเอง ทาง สตง.ได้สั่งการให้อบต.คืนงบประมาณในส่วนที่เกินความเป็นจริงไปแล้ว ซึ่งอบต.ก็ได้คืนเงินไปแสนกว่าบาทตั้งแต่ปี 61 แล้ว
สำหรับรายละเอียดโซลาเซลล์นี้ถูกวิจารณ์กันมากเพราะราคาสูงผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับราคาตลาด เช่น 1.โคมไฟ sport light LED 100 วัตต์ในเอกสารปริมาณงานระบุราคาราชการชุดละ 13,500 บาท ขณะที่ราคาตลาดชุดละเพียง 1,300 บาท 2.เสาเหล็กกลมชุบกัลวาไนท์สูง 9 เมตร ครบชุดราคาราชการชุดละ 26,800 บาท ราคาตลาดชุดละ 15,000 บาท 3.แผงโซล่าเซลล์ Poly - Crystalline ขนาดกำลังผลิตไม่น้อยกว่า 320 วัตต์ ราคาราชการชุดละ 8,000 บาท ราคาตลาดชุดละ 6,000 บาท 4.ตู้สำหรับใส่อุปกรณ์ชนิดกันน้ำติดตั้งที่เสา ราคาราชการตู้ละ 13,400 บาท ราคาตลาดตู้ละไม่เกิน 1,000 บาท 5.เบรกเกอร์ 16 แอมป์ ราคาราชการชิ้นละ 1,840 บาท ราคาตลาดชิ้นละ 200-300 บาทเท่านั้นเอง




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก   ศรีตรังเคเบิลทีวี"คนข่าวท้องถิ่น"

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า