คณะมโนราห์จังหวัดตรังรวมตัวบุกศาลากลางยื่นหนังสือขอเปิดโรงครูโนราตัดพ้อขาดรายได้เป็นหนี้ท่วมหัว



 คณะมโนราห์ตรังรวมตัวบุกศาลากลางยื่นหนังสือร้องขอเปิดโรงครูโนรา ตัดพ้อขาดรายได้มากว่า ​8 เดือน ภาระหนี้ท่วม


เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่หน้าศาลากลาง จ.ตรัง นายทวีวัฒน์ คชบริรักษ์ อายุ 35 ปี หัวหน้า คณะมโนราห์ทวีน้อย ชาตรีศิลป์ พร้อมด้วยมโนราห์ชื่อดังในจังหวัดตรังอาทิ มโนราห์สเถียร ปรีชา มโนราห์ทวีน้อย มโนราห์เอก ทวีศิลป์ มโนราห์ณรงค์ จันทัด นักดนตรีและนางมโนราห์ จำนวน ​30 คน ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจ.ตรัง ขอให้ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด 19 ให้ประกอบพิธีกรรมมโนราห์โรงครูได้ ทำให้คณะมโนราห์ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพขาดรายได้มานานกว่า ​8 เดือนแล้ว โดยมีนายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจ.ตรัง เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนและเตรียมนำเข้าที่ประชุมในวันพฤหัสบดีนี้


นายทวีวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้มายื่นข้อเรียกร้องของคณะมโนราห์ยังคงติดล็อกกับมาตรการป้องกันโควิด 19 ของจังหวัดที่กำหนดให้มโนราห์ประกอบพิธีกรรมโรงครูได้ เบื้องต้นประสบปัญหามากว่า 2 ปีแล้วแต่ก็ยังมีช่วงผ่อนคลายบ้าง แต่มาช่วง 8 เดือนหลังที่ไม่ได้ประกอบพิธีกรรมโรงครูเลยทำให้ไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ประกอบกับภาระหนี้สินทั่งค่าผ่อนรถ ค่าเช่าบ้าน ในเรื่องของการซื้อของอุปโภคบริโภค แต่ละครอบครัวก็มีภาระที่ต่างกันออกไป ซึ่งจากการยื่นหนังสือทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้เข้ามาชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถให้มโนราห์รำได้ แต่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าวันพฤหัสบดีนี้จะเอาเรื่องความเดือดร้องของพี่น้องมโนราห์เข้าที่ประชุม ซึ่งหากผลการประชุมมีผลให้จัดพิธีกรรมได้ครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่าโนราโรงครูเล็กหรือโนราค้ำครูที่จัด ​1 วัน 1 คืน พวกตนส่วนหนึ่งก็มีความพอใจ แต่หากยังไม่มีการอนุญาตให้จัดพิธีโรงครูได้ ในวันศุกร์ก็เตรียมกลับมาเรียกร้องใหม่อีกครั้ง เพราะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักมากจริงๆ 


อยากฝากให้หน่วยงานราชการเห็นใจและเห็นคุณค่าของผู้ที่ประกอบอาชีพศิลปิน ซึ่งรายได้หลักของพวกตนมาจากการรำ การร้องมโนราห์ ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมพิ้นถิ่นและเพิ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจาก UNESCO ขอให้ผู้ที่มีอำนาจปลดล็อกการจัดพิธีโรงครูโนราได้แล้ว


ด้านนายสเถียร ปรีชา อายุ 68 ปี หัวหน้าคณะมโนราห์สเถียร ปรีชา ศิษย์สุดท้องมโนราห์ชื่อดัง แป้น โคกท้อน เผยว่า ครอบครัวตนมีทั้งหมด 11 คน เป็นครอบครัวมโนราห์ทั้งบ้าน ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายจนมาถึงรุ่นตนได้ทำอาชีพมโนราห์มาร่วมร้อยปีแล้ว ถ้าไม่มีรายได้ตรงนี้ก็ไม่รู้จะกินอะไรกันแล้ว ไม่มีของใช้อะไรจะไปจำนำแล้ว อยากให้ทางจังหวัดมาดูว่ามโนราห์สามารถประกอบพิธีอะไรได้บ้าง ไม่ใช่มาตีความหมายรวมว่าทั้งหมดเป็นโรงครูโนรา ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีก็ไม่ได้มีมากมายเป็นแค้คนในบ้านที่จ้างไปประกอบพิธีเท่านั้น อยากขอร้องให้อนญาตตั้งโรงครูได้ เพื่อได้ทำมาหากิน ได้ต่อชีวิตได้ พิธีโรงครูโนรารับแล้วยกเลิกไม่ได้ เพียงผัดผ่อนเลื่อนทำพิธีไปเรื่อยๆ ตอนนี้จะไปกู้ยืมใครก็ไม่มีใครให้แล้ว ถ้าผูกคอตายได้ก็จะผูกคอตายไปให้รู้แล้วรู้รอด




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ศรีตรังเคเบิลทีวี”คนข่าวท้องถิ่น”

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า