ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังพัฒนาสายพันธุ์ “มะขามป้อม” เหมาะสำหรับปลูกในภาคใต้


  ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ลุยพัฒนาสายพันธุ์ “มะขามป้อม” ให้เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อนำผลิตผลส่งให้โรงพยาบาลผลิตยาแก้ไอ และส่งขายแปรรูปเป็นมะขามป้อมดอง-แช่อิ่ม ซึ่งยังมีความต้องการสูง


ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้จัดทำแปลงปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ “มะขามป้อม” เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยาแผนโบราณ และยาแก้ไอ โดยการใช้ผลมะขามป้อมกลุ่มผลเล็ก และกลุ่มผลกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติทางยา มาตากแห้ง และส่งขายให้โรงพยาบาลห้วยยอด ซึ่งเป็นศูนย์กลางผลิตยาแก้ไอให้โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย ส่วนกลุ่มผลใหญ่ ส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากจุดเด่นของมะขามป้อม ที่ทางศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พัฒนาสายพันธุ์ของมาได้ คือ มีผลดก ผลใหญ่ ขณะที่การดูแลรักษาจะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่เน้นการทำความสะอาดโคนต้น และร่องสวนให้เตียนตลอดเวลา เพื่อป้องกันแมลง หรือหนอนเจาะลำต้นและผล

นางสุมาลี ศรีแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 ทางศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ได้รวบรวมสายพันธุ์มะขามป้อมจาก 8 จังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจะมีลูกใหญ่กว่ามะขามป้อมในภาคใต้ แล้วนำมาปลูกในแปลงทดสอบพันธุ์ และพัฒนาจนได้สายพันธุ์แนะนำของศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มตามน้ำหนักต่อผล คือ กลุ่มผลเล็ก น้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม กลุ่มผลกลาง น้ำหนัก 11-19 กรัม และกลุ่มผลใหญ่ น้ำหนัก 20 กรัมขึ้นไป โดยผลเล็ก และผลกลาง จะส่งขายให้โรงพยาบาลห้วยยอด เพื่อผลิตเป็นยาแก้ไอ ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง จึงได้ส่งเสริมให้ประชาชนนำเอาต้นพันธุ์ไปปลูกเพิ่มด้วย ส่วนผลใหญ่ใช้เพื่อการแปรรูป เช่น ดอง และแช่อิ่ม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ในขณะที่ถ้าขายผลสดจะได้เพียงกิโลกรัมละ 30-50 บาท

“มะขามป้อม” มีลักษณะเป็นพืชป่า ดูแลง่าย ช่วงก่อนติดดอกให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ช่วงติดผลให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อบำรุงลูก ส่วนการดูแลลำต้นต้องดายหญ้ารอบโคนให้เตียน และสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหนอนเจาะต้น และด้วยความที่มะขามป้อมเป็นพืชสมุนไพร จึงต้องงดใช้สารเคมี ส่วนอายุการให้ผลผลิตของต้นพันธุ์เสียบยอด จะเริ่มเมื่ออายุได้ 2 ปีครึ่ง โดยทางภาคใต้จะนิยมรับประทานผลใหญ่ เพราะเปรี้ยวน้อย ฝาดน้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลมะขามป้อมมีวิตามินซีสูง รวมทั้งฟลาโวนอยด์ และแอนติออกซีแดนท์ ส่วนในใบมะขามป้อม มีสารแทนนินสูง จึงเหมาะแก่การนำไปทำอาหารเสริมเพื่อเพิ่มอสุจิของปลา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองใช้ใบ หากเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อดูงานได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ถนนตรัง-สิเกา หมู่ 2 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา โทร.06-3227-6250











ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า