ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเล พบเน่าตายจำนวนมากในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม


 เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการลงตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเลเน่าตายเป็นบริเวณกว้าง ระหว่างอ่าวหยงหลำ-เกาะมุกด์ ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ไร่

เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ร่วมกับมูลนิธิอันดามัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และนักวิชาการจากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) ตรัง และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเล ในบริเวณอ่าวหยงหลำ-เกาะมุกด์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งมีพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 9,000 ไร่ หลังได้รับแจ้งชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ว่า พบเห็นสภาพเสื่อมโทรมของระบบนิเวศหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง

ทั้งนี้ จากการดำน้ำลงไปสำรวจแนวหญ้าทะเล โดยเฉพาะบริเวณอ่าวหยงหลำ ซึ่งหนาแน่นไปด้วยหญ้าทะเลชนิดชะเงาใบยาว และใบมะกรูดบางส่วน มองด้วยตาเปล่าพบว่า สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป หญ้าทะเลตายเหลือเพียงสั้นๆ เป็นบริเวณกว้าง และเมื่อดำน้ำลงไปสำรวจพบว่าแนวหญ้าทะเลมีตะกอนดินปกคลุมปริมาณมาก และมีความหนาแน่นลดลง ตะกอนดินเลนถูกแทนที่ด้วยตะกอนทราย ส่วนบนเหนือพื้นทรายใบเน่าตาย เหลือเพียงประมาณ 5-7 เซนติเมตร จากเดิมหญ้าทะเลจะมีความยาวประมาณ 1.00-1.30 เมตร แต่ส่วนรากยังมีอยู่


โดยตะกอนดินมีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า เกาะตามกอและใบ ทำให้หญ้าทะเลสังเคราะห์แสงไม่ได้ ซึ่งจุดที่พบหญ้าทะเลเน่าตายเป็นบริเวณกว้างนั้นอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งเหนือร่องน้ำ เป็นจุดรับน้ำจากฝั่ง สภาพพื้นที่ตื้นเขินกว่า คาดว่าเสียหายไปไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ แต่หลังบริเวณร่องน้ำใหญ่ไปทางบริเวณหน้าหมู่บ้านเกาะมุกด์ จากการสำรวจพบว่าหญ้าทะเลยังอุดมสมบูรณ์ เพราะมีร่องน้ำใหญ่คั่นกลาง โดยเจ้าหน้าที่เตรียมจะนำนักวิชาการมาสำรวจอีกครั้งเร็วๆ นี้ เพื่อเก็บตัวอย่างดินไปศึกษา และสำรวจเนื้อที่ความเสียหายทั้งหมดก่อนจะหาทางแก้ไขต่อไป

ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จาก มทร.ตรัง กล่าวว่า สภาพตะกอนดินที่ดำลงไปพบมาจากตะกอนดินจากแม่น้ำ ซึ่งจะมีเซลล์ซากพืชซากสัตว์ปนมาด้วย และไหลลงมาเคลือบบริเวณส่วนใบเป็นจำนวนมาก จึงมีผลต่อหญ้าทะเลทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้เน่าตาย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในระดับหน้าดิน ยังทำลายเฉพาะส่วนใบ แต่จะมีผลในระยะยาวแน่นอน โดยในพื้นที่มีหญ้าทะเลรวม 2 ชนิด คือ หญ้าใบมะกรูด กับหญ้าชะเงาใบยาว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงของหญ้าทะเลชนิดหญ้าชะเงาใบยาวที่เสียหายจำนวนมากเป็นบริเวณกว้าง


ด้านนายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง กล่าวว่า จากการสำรวจพบหญ้าทะเลเริ่มตายแบบนี้จะส่งผลอย่างแน่นอนต่อพะยูนในพื้นที่ เพราะพะยูนจะอาศัยอยู่หน้าเฉพาะในพื้นที่ที่มีหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารเท่านั้น ซึ่งถ้าหญ้าทะเลเสียหายพะยูนจะอพยพหนีไปหากินที่อื่น และจะอันตรายเพราะอาจเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัย สำหรับจังหวัดตรัง มีแหล่งหญ้าทะเลทั้งหมดประมาณ 33,000 ไร่ ทั้งในเขตอุทยานหาดเจ้าไหม และในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ส่วนพื้นที่ที่พบเจอปัญหาในครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุปริมาณเนื้อที่ได้ จะต้องมาทำแผนที่สำรวจ และเก็บตัวอย่างดินกับหญ้าไปตรวจวิเคราะห์ที่มาของแหล่งตะกอนดิน เพื่อหาทางแก้ปัญหา และฟื้นฟูต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะทำการสำรวจหญ้าทะเลในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบเต่าตนุเพศเมีย อายุประมาณ 4-5 ปี ถูกอวนเครื่องมือประมงรัดคอจนตายลอยอยู่ในน้ำ โดยชาวบ้านระบุว่า เป็นลักษณะของอวนเรือประมงพาณิชย์ที่อาจหลุดลอยมาจากทะเลลึก ทำให้เต่าซึ่งกำลังหากินว่ายน้ำเข้าไปติด และดิ้นจนรัดคอเสียชีวิต ซึ่งเป็นภาพที่น่าสลดใจยิ่ง เจ้าหน้าที่จึงเก็บซากกลับขึ้นฝั่ง









    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์ 

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า