ชาวชุมชนหน้าท่าควาย อ.นาโยง จ.ตรัง ร่วมกันสืบสานประเพณีเก่าแก่กว่า 100 ปี โดยการแบกหามร่างคุณทวดที่เสียชีวิตด้วยความชราในวัย 95 ปี ด้วยแคร่ไม้ไผ่ จากบ้านไปวัดเพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 1 ชุมชนหน้าท่าควาย เขตเทศบาลตำบลนาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง บรรดาลูกหลานได้ช่วยกันจัดทำแคร่จากไม้ไผ่สีสุก เพื่อใช้แบกหามศพของ นางปวน พรหมชู หรือนามสกุลเดิม รัตนะ อายุ 95 ปี ที่เสียชีวิตด้วยความชรา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา
หลังจากที่บรรดาลูกหลานได้ประกอบพิธีสวดอภิธรรมศพอยู่ที่บ้านจนครบ 3 วัน ก็ถึงกำหนดการนำร่างของ คุณทวดปวน ไปยังวัดรัตนาภิมุข (วัดปากเหมือง) ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปประมาณ 600 เมตร เพื่อทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามหลักศาสนา ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่เหมือนใคร เพราะปกติหากญาติผู้ใหญ่ทั่วไปเสียชีวิตด้วยความชรา จะใช้วิธีบรรทุกศพเข้าวัดตามปกติ
แต่สำหรับชาวชุมชนหน้าท่าควาย และลูกหลานตระกูลพรหมชู และรัตนะ หากมีผู้เสียชีวิตด้วยความชราจะยังคงสืบทอดประเพณีนำศพเข้าวัดแบบโบราณ ตามที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี ด้วยการหามแคร่ไม้ไผ่ และมีพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 4 รูป ที่มีอายุมากที่สุดคือ 72 ปี ขึ้นไปยืนบนแคร่ข้างโลงศพ เพื่อทำพิธีนำทาง นำดวงวิญญาณผู้ตายไปยังวัด โดยมีลูกๆ หลานๆ เหลนๆ ของชาวชุมชนหน้าท่าควายกว่า 100 คน ช่วยกันแบกหามร่างของ คุณทวดปวน ไปยังวัดรัตนาภิมุข (วัดปากเหมือง) เพื่อทำพิธีบำเพ็ญกุศลศพทางศาสนา ระหว่างวันที่ 13-16 มีนาคม และจะประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ในวันที่ 17 มีนาคมต่อไป
ทั้งนี้ แคร่ไม้ไผ่ดังกล่าวจะทำจากไม้ไผ่สีสุก ซึ่งมีขนาดลำที่ใหญ่และหนาเป็นพิเศษ เนื่องจาก คุณทวดปวน และลูกๆ หลานๆ มีอาชีพทำข้าวหลาม ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านข้าวหลามตำบลโคกสะบ้า สินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง จึงนิยมนำไม้ไผ่สีสุกมาทำข้าวหลามอยู่แล้ว ดังนั้น จึงใช้ไม้ไผ่สีสุกมาทำเป็นแคร่แบกหามร่างของคุณทวด
ซึ่งจะนำโดยขบวนกลองยาวที่มีบรรดาลูกหลานร่วมกันฟ้อนรำ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบกหามแคร่ไปยังวัด ซึ่งมีระยะทาง 600 เมตร แต่ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ชม. เพราะจะมีการแวะบ้านญาติ หรือแวะบ้านเพื่อนบ้านคนรู้จัก จึงทำให้การแบกหามศพ ต้องยื้อ ต้องเลี้ยวไปตลอดเส้นทาง ขณะที่พระภิกษุที่อยู่บนแคร่ก็ต้องเกร็งเท้า เกร็งตัวบ้างเป็นครั้งคราว ตามจังหวะการยื้อและการเลี้ยว ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปอย่างครึกครื้นและสนุกสนาน
นางจินดา แสงมี อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นหลานสาวของ คุณทวดปวน กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว โดยปู่ย่าตายายที่เสียชีวิตด้วยความชราทุกคน บรรดาลูกหลานจะหามศพด้วยแคร่ไม้ไผ่ไปยังวัด ส่วนเหตุที่เลือกใช้ไม้ไผ่สีสุกเนื่องจากครอบครัวประกอบอาชีพทำข้าวหลามขายที่หมู่บ้านข้าวหลามโคกสะบ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้วเช่นกัน ดังนั้น ในการทำแคร่หามศพจึงเลือกใช้ไม่ไผ่สีสุก เพื่อความผาสุกเป็นสิริมงคล เพราะไม้ไผ่สีสุกเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งทำข้าวหลาม
ด้าน นางเพ็ญศิริ สังข์สัพพันธ์ อายุ 63 ปี ลูกสาว คุณทวดปวน กล่าวว่า ประเพณีหามศพเข้าวัด เป็นประเพณีที่ชาวชุมชนหน้าท่าควายสืบทอดกันมายาวนานแล้ว หากมีผู้เสียชีวิตด้วยความชรา จะช่วยกันทำแคร่หามแบบนี้ ซึ่งเป็นประเพณีที่หาดูได้ยาก โดยชาวชุมชนและลูกๆ หลานๆ เหลนๆ ตั้งใจจะสืบสานรักษาเอาไว้ตลอดไป เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
วัฒนธรรม