- รื้อแล้วไม่จบ! ต่อเติมตลาดย่านตาขาวยุค “กิจ หลีกภัย” ผู้ค้าโวยเดือดร้อนไร้ที่ขาย “นายกฯ บุ่นเล้ง” เตรียมจัดจุดผ่อนผัน-ทุบสร้างใหม่ พบจ่ายค่าเซ้ง-เช่าบนถนนสาธารณะเทศบาลกว่า 20 ปี ไม่รู้เงินเข้ากระเป๋าใคร?
จากกรณีการก่อสร้างต่อเติมตลาดสดองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) หรือตลาดสดย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลตำบลย่านตาขาว ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำให้เกิดตลาดซ้อนตลาด โดยส่วนที่ต่อเติมอยู่วงนอกตัวอาคารตลาด และรุกล้ำลงบนถนนสาธารณะของเทศบาลฯ อีกทั้งยังมีการขายของทุกชนิดเหมือนกันกับผู้ค้าในอาคาร พ่อค้าแม่ค้าในอาคารเดือดร้อนขายของไม่ได้มายาวนานกว่า 20 ปีที่มีการต่อเติม แผงจำนวนมากถูกทิ้งร้าง ไม่มีผู้เช่า ขณะที่ตลาดส่วนต่อเติมเพิ่งถูกรื้อถอนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่เทศบาลได้ฟ้องร้องไว้ ปัจจุบันจึงส่งผลกระทบมากมายต่อผู้ค้านับพันราย
ทั้งนี้ ตลาดดังกล่าวก่อสร้างเมื่อปี 2544 เฉพาะตัวอาคาร ในยุคของ นายกิจ หลีกภัย อดีตนายก อบจ. พี่ชายของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาไม่นานมีการต่อเติมส่วนรอบนอกโดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย อีกทั้งนายกิจ ยังถูก ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย อดีตสมาชิกสภา อบจ.ตรัง ร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ในข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้เช่าอาคารตลาดย่านตาขาว โดยสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้แจ้งผลการพิจารณาข้อกล่าวหานายกิจ ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ในข้อร้องเรียนที่ 2 จากทั้งหมด 5 ข้อร้องเรียนที่ประกอบด้วย
1.ผู้เช่าไม่ได้ทำการซ่อมแซมตลาดสดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตามสัญญาเช่า ซึ่งในสัญญาเช่าระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อหมดสัญญาเช่า 3 ปี ผู้เช่าจะต้องทำการซ่อมแซมตลาดสดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และต้องส่งมอบตลาดคืน อบจ. เพื่อเปิดให้จัดหาผู้เช่าปีต่อไป แต่นายกกิจ ทำการต่อสัญญากับผู้เช่ารายเดิมทันที โดยไม่มีการเปิดประมูลหาผู้เช่ารายใหม่อย่างเปิดเผย 2.ปล่อยปละละเลยเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้เช่าทำการต่อเดิมอาคารที่เช่า อันเป็นการละเมิดสัญญาเช่า จนทำให้ปิดถนนตลอดแนวไป 1 ด้าน ผู้ค้าซึ่งอยู่ภายในอาคารตลาดของ อบจ.ขายของไม่ดี ประชาชนไม่เดินเข้าไปซื้อของ 3.ผู้เช่าทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรบริหารส่วนจังหวัดตรัง ตามสัญญาเช่า 4.ผู้เช่าไม่ได้ทำการส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ในสภาพที่เรียบร้อยตามสัญญา และ 5.ผู้เช่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของตลาดสดทำให้ตลาดสดดังกล่าว โดยมีความเห็นควรส่งเรื่องให้ นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในขณะนั้น แต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่ และอำนาจตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แต่เรื่องยังคงเงียบจนถึงทุกวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านมา 3 ปี ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลย่านตาขาว พร้อมอุปกรณ์รื้อถอน และรถบรรทุกเข้าทำการรื้อถอนส่วนต่อเติมอาคารของตลาดย่านตาขาว ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต่อเติมแบบชั่วคราว แบบใช้ผ้ายางเป็นหลังคากันแดดกันฝน และส่วนที่ต่อเติมกึ่งถาวร ลงเสาแข็งแรง มุงกระเบื้อง และติดตั้งชั้นวางสินค้า ทำให้ผู้ค้านับพันรายประสบความเดือดร้อน ไม่มีที่ขายของ โดยเทศบาลเจ้าของพื้นที่ถนนได้จัดจุดผ่อนผันให้ไปขายที่ตลาดนัดบริเวณหมู่บ้านศรีตรัง แต่กลับไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ รองรับ ทั้งไฟฟ้า น้ำ หลังคากันแดดฝน ห้องน้ำ ผู้ค้าจำนวนหนึ่งจึงเข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบว่าบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ในส่วนที่ต่อเติม และถูกรื้อถอนไปแล้ว ต่างบอกว่าไม่มีที่ขายของ ทาง อบจ.ไม่มีการทำแผนรองรับ ขณะที่ทุกคนต้องหาเลี้ยงครอบครัว และได้รับความเดือดร้อนหนัก บางคนมากางร่มขายของที่เดิมท่ามกลางซากปรักหักพังของเศษวัสดุที่ถูกรื้อ และยังขนไปทิ้งไม่หมด บางรายยอมไปจ่ายค่าเช่าแผงใหม่ในอาคารในราคาเดือนละ 3,000-6,000 บาท แต่ก็ขายไม่ได้ อีกทั้งเศษวัสดุการรื้อถอนที่ยังวางระเกะระกะ ทำให้ไม่มีคนมาซื้อของ ทั้ง 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ขายของอยู่ในอาคาร และกลุ่มเดิมที่ขายอยู่ในส่วนต่อเติมต่างได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด
นางปัดติญา ตันอาวัชนาการ แม่ค้าที่ถูกรื้อถอน กล่าวว่า หลังจากถูกรื้อก็ไม่มีที่ขายของ หลายรายมากางร่มขายที่เดิม เพราะทุกคนต้องทำมาหากิน ส่วนตนกลับขึ้นไปขายที่แผงเดิมในอาคาร แต่ขายไม่ได้ เพราะคนไม่เข้าในอาคาร ยังมีแผงร้าง แผงว่างจำนวนมาก พ่อค้าแม่ค้าไม่มีใครอยากขึ้นมาขาย เพราะพื้นที่ไม่สะอาด สกปรก รกรุงรัง รื้อแล้ว อบจ.ไม่ทำแผนรองรับเลย ต้องการให้ อบจ.มาพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าว่าจะเอาอย่างไร ระยะเวลา 45 วันที่ระบุไว้ในเอกสารแจ้งการรื้อถอน แต่ควรจะจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และทำความสะอาดปรับปรุงตลาดภายในอาคารให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับความเป็นตลาด ประชาชนจะได้เข้ามาซื้อ
ด้านนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง กล่าวว่า ในเบื้องต้นเตรียมประสาน นายวุฒิชัย สุนทรนนท์ นายกเทศมนตรีตำบลย่านตาขาว เพื่อหารือในการกำหนดจุดผ่อนผันในการค้าขายชั่วคราวให้แก่พ่อค้าแม่ค้าในส่วนต่อเติมที่ถูกรื้อ โดยจะกำหนดจุดร่วมกันไม่ให้รุกล้ำเส้นทางจราจร หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนั้น อบจ.มีแผนจะทุบทิ้งอาคารตลาดสดทั้งหมดเพื่อก่อสร้างใหม่ คาดว่าจะสามารถทุบทิ้งได้ในปี 2566 หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ในอนาคตจะเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ ให้พ่อค้าแม่ค้ามีแผงจำหน่ายเป็นของตนเอง จะไม่เกิดปัญหาว่าตรงไหนขายไม่ได้อีก
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามข้อมูลจากพ่อค้าแม่ค้าในส่วนต่อเติมหลายราย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนที่ต่อเติมนั้นมีการแบ่งเป็นล็อกเป็นแผงค้าชัดเจน และกินพื้นที่ลงบนถนนของเทศบาลจำนวนมาก เสมือนเป็นตลาดถาวร เพราะมีเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือค่าเซ้งแผงแรกเข้า ค่าเช่ารายวัน ค่าเช่ารายเดือน ซึ่งบุคคลที่มาเก็บไม่ได้แสดงตนว่ามาจากหน่วยงานราชการ แต่ผู้ค้ายอมจ่ายให้เพราะคิดว่าส่วนต่อเติมเป็นส่วนหนึ่งของตลาด และจ่ายต่อเนื่องกันมานานแล้ว โดยไม่เคยทราบมาก่อนว่าตัวเองขายของอยู่บนถนนสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ยังมีค่าเก็บขยะที่ทางเทศบาลจัดเก็บแผงละ 20 บาท โดยออกเป็นคูปองใบเสร็จอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดได้จ่ายต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี โดยไม่รู้ว่าเงินดังกล่าวนั้นไปอยู่ที่ใครหรือหน่วยงานใด
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์
Tags
ข่าวเมืองตรัง