เกษตรกรตรังช้ำหนัก! พิษโควิด-19 ทำกุ้งค้างคาบ่อกว่า 200 ตัน ซ้ำถูกเจ้าของห้องเย็นฉวยโอกาสกดราคา


 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งช้ำหนัก เพราะจับขายไม่ได้ในช่วงปีใหม่นี้ ทำให้กุ้งค้างคาบ่อกว่า 200 ตัน เหตุจากคนไม่กินกุ้งหวั่นโควิด-19 ขณะที่พ่อค้า และเจ้าของห้องเย็นบางแห่งกลับฉวยโอกาสกดราคาลงกว่า กก.ละ 50 บาท

วันนี้ (29 ธ.ค.) นายเจริญ หยงสตาร์ อายุ 63 ปี ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.ตรัง จำกัด พร้อมด้วย นายห้าหรน กองข้าวเรียบ อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ได้นำผู้สื่อข่าวตรวจสอบผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.ตรัง ซึ่งพบว่าขณะนี้มีกุ้งที่ถึงเวลาต้องจับขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 แต่ยังไม่สามารถจับขึ้นจากบ่อส่งขายได้ ทำให้คงค้างอยู่ในบ่อเลี้ยงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากราคาตกต่ำอย่างหนัก อันเป็นผลกระทบที่เกิดจากการปิดตลาดกลางกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร อันเนื่องมาจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ

เนื่องจากประชาชนไม่กล้ารับประทานกุ้ง และถูกประเทศเพื่อนบ้านประกาศไม่นำเข้ากุ้งจากไทย ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งระบบ จนส่งผลให้ราคากุ้งตกต่ำ เนื่องจากไม่มีตลาดจำหน่าย ขณะที่มีพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งเจ้าของผู้ประกอบการห้องเย็นบางรายยังฉวยโอกาสซ้ำเติมด้วยการไปติดต่อขอซื้อกุ้ง แต่ให้ในราคาที่ต่ำกว่าทุนถึงกิโลกรัมละกว่า 50 บาท เช่น กุ้งขนาด 42-43 กิโลกรัม จากราคาขายกิโลกรัมละ 220 บาท แต่ไปขอซื้อในราคากิโลกรัมละ 165 บาท ยิ่งซ้ำเติมปัญหาอย่างหนัก

นายเจริญ หยงสตาร์ ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.ตรัง จำกัด กล่าวว่า พอเกิดโรคระบาดที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดกลางของกุ้ง จึงได้ส่งผลให้การซื้อกุ้งของพ่อค้าทั่วไป รวมทั้งของห้องเย็นฉวยโอกาสตามกระแสที่ผู้ซื้อก็น้อย ไม่มีตลาดระบาย ไม่มีการแข่งขันกันซื้อ กดราคาลงอย่างมาก เช่น จากราคาที่กิโลกรัม 200 บาท กดลงเหลือกิโลกรัมละ 150 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้ หากถึงเวลายื้อเลี้ยงต่อไปไม่ได้จริงๆ เกษตรกรก็ต้องขาย จึงอยากให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือ

โดยขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.ตรัง มีประมาณ 60 ราย มีกุ้งรวมกันประมาณ 200 ตัน ที่ยังคงค้างอยู่ในบ่อเลี้ยง เพื่อรอราคาให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ในการทนเลี้ยงต่อไปก็ทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร แนวทางแก้อยากให้รัฐช่วยการเก็บกุ้งที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเหมือนกันทั่วประเทศ ด้วยวิธีการเปิดรับจำนำ หรือด้วยวิธีใดก็ได้หลังสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว รัฐบาลสามารถระบายขายได้ หรือใช้วิธีเช่าห้องเย็น เพื่อให้เกษตรกรได้สต๊อกกุ้ง แต่หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา ต่อไปคือเกษตรกรไม่กล้าลงกุ้ง ต่อไปก็จะขาดแคลนกุ้งภายในประเทศแน่นอน จึงควรช่วยให้หาห้องเย็นรับจำนำ เพื่อให้ระบบการเลี้ยงยังคงดำเนินต่อไปได้

ด้าน นายห้าหรน กองข้าวเรียบ หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของ จ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองมีกุ้งเหลืออยู่ จำนวน 4 บ่อ โดย 2 บ่อเป็นกุ้งขนาด 40-50 ตัวต่อกิโลกรัม รวมประมาณ 10 ตัน ส่วนอีก 2 บ่อ เป็นกุ้งขนาด 70-80 ตัวต่อกิโลกรัม รวมประมาณ 8 ตัน ถ้าปล่อยขายช่วงนี้จะขาดทุนกิโลกรัมละ 20-55 บาท โดยล่าสุดมีเจ้าของห้องเย็นมาติดต่อซื้อกุ้งขนาด 42-43 ตัวต่อกิโลกรัม จากปกติราคากิโลกรัม 220 บาท แต่กดราคาขอซื้อกิโลกรัมละ 165 บาท ซึ่งขายไม่ได้เพราะขาดทุน จึงต้องทนเลี้ยงต่อไป หลังจากเลี้ยงมา 4 เดือน 10 วัน หรือเลี้ยงเลยกำหนดจับขายมาประมาณ 20 วันแล้ว และยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์


แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า