ชาวบ้านเกาะลิบงกว่า 200 ครัวเรือนเดือดร้อนหนัก ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง


  ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน บ้านหาดยาว-เจ้าไหม ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เดือดร้อนหนักขาดน้ำอุปโภคบริโภค จนต้องทนซื้อน้ำหรือไปขนน้ำมาจากต่างตำบล ระบุเกิดปัญหาเช่นนี้นานนับสิบปีแล้ว โดยเฉพาะกับช่วงหน้าแล้ง


ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน บ้านหาดยาว-เจ้าไหม หมู่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน ซึ่งมีมากถึง 210 หลังคาเรือน โดยชาวบ้านที่นี่ต้องซื้อน้ำใช้ สำหรับอาบ ซักผ้า ล้างจาน และใช้ในกิจวัตรประจำวัน ถังขนาด 800 ลิตร ในราคา 300 บาท และซื้อน้ำสำหรับบริโภคในราคาถังละ 10 บาท (ขนาด 10 ลิตร) ส่วนชาวบ้านบางรายที่มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์พ่วงข้างต้องไปสูบน้ำจากคลองไม้แดง ต.บางสัก อ.กันตัง ซึ่งอยู่ห่างจากไกลหมู่บ้านกว่า 10 กิโลเมตร และการสูบน้ำแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับมอเตอร์สูบน้ำให้แก่เจ้าของบ้านที่อยู่ใกล้คลอง เป็นเงิน 20 บาทต่อครั้ง

สำหรับปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของชาวบ้าน บ้านหาดยาว-เจ้าไหม คาราคาซังมานานนับสิบปี ผ่านผู้บริหาร อบต.มาแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ปัญหาก็ยังคงเดิม โดยเฉพาะหน้าแล้งจะยิ่งเดือดร้อนหนัก เพราะการซ่อมแซมแก้ไขแต่ละครั้งไม่ได้สมบูรณ์ถาวร น้ำจะไหลบ้างไม่ไหลบ้าง ไหลอ่อนหรือบางครั้งหยุดไหลนานประมาณ 2-3 เดือนติดต่อกัน เมื่อชาวบ้านสอบถามหรือรวมตัวกันไปเรียกร้อง ก็ได้รับคำตอบว่าอุปกรณ์บางอย่างชำรุดเสียหายในทุกๆ ครั้ง ต้องขอเวลาซ่อมแซมแก้ไข โดยปัญหาดังกล่าวจะเป็นซ้ำๆ ซากๆ ทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง หากไหลมาก็ไหลอ่อน ชาวบ้านทุกครัวเรือนต้องตัดสายยางทิ้ง เพื่อให้น้ำได้ไหลออกมา หรือต้องนำสายยางไว้ที่ต่ำ หรือบางรายต้องขุดหลุมเพื่อให้สายยางต่ำ แล้วเอากะละมังไปวางเพื่อรองรับน้ำ


ขณะที่บางรายต้องตื่นแต่ตี 3 มารอรองรับน้ำ จากนั้นก็ตักใส่ถัง หรือตักไปใส่ในตุ่ม โอ่งเพื่อเก็บไว้ใช้ ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดดังกล่าวไม่เคยใช้น้ำประปาที่สมบูรณ์เหมือนกับชาวบ้านในตำบลอื่นๆ ทั้งต้องเสียเงินซื้อน้ำอาบ น้ำกิน น้ำใช้ตลอดทั้งปี และต้องจ่ายค่าซักผ้าเดือนละ 1,000-2,000 บาท เพราะขาดแคลนน้ำ ซึ่งชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเดือดร้อนหนักที่ต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ แทนที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นหรือไว้เลี้ยงลูก แต่หากไม่ซื้อก็ไม่มีน้ำใช้ ครั้นจะใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นที่มีอยู่ในชุมชนก็ไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากเป็นที่ชายทะเล น้ำในบ่อน้ำตื้นมีปริมาณน้อย และเป็นน้ำกร่อย ใช้อาบทำความสะอาดร่างกายไม่ได้ บางครั้งน้ำมาเป็นสีขุ่น สีชาเย็น ซักเสื้อผ้าก็เสียหาย อาบน้ำก็คัน เกิดผื่นทั่วตัว

นางเสาะระ หมาดตุด อายุ 52 ปี ได้หอบเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวมาให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับบอกว่า เพราะไม่มีน้ำใช้ เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วจึงไม่ได้ซัก เพราะต้องซื้อน้ำมาใช้ในราคา 300 บาทต่อ 800 ลิตร เนื่องจากประปาไม่มีคุณภาพ น้ำไหลช้า น้ำไหลบ้าง ไม่ไหลบ้าง หรือบางวันน้ำใส บางวันน้ำขุ่น บางครั้งไม่ไหลนานเป็น 3 เดือน และเป็นแบบนี้มานานหลายปีแล้ว

ขณะที่ น.ส.วลัยพรรณ เก้าเอี้ยน อายุ 20 ปี กล่าวว่า ตนต้องนำเสื้อผ้าไปซักบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญสัปดาห์ละ 2 ครั้งๆ ละ 2 ถัง ในราคาถังละ 40 บาท ส่วนน้ำอาบหรือน้ำใช้ในครัวเรือนก็ต้องเสียเงินซื้อเดือนละ 4-5 ครั้ง ขนาดถัง 800 ลิตร ในราคาถังละ 300 บาท ทำให้แต่ละเดือนชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำเดือนละประมาณ 2,000 บาท


ด้านนางบุหลัน หมาดตุด อายุ 70 ปี กล่าวว่า อบต.เกาะลิบง มีสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน แต่ประปาที่ได้กลับไม่สะอาด บางครั้งน้ำขุ่นเป็นสีชาเย็น โดยชาวบ้านได้ร้องเรียนไปที่ อบต.หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข โดย อบต.มักอ้างกับชาวบ้านว่าอุปกรณ์เสีย รอช่างมาซ่อมแซม หรืออ้างเหตุผลต่างๆ นานา ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่น้ำมีความจำเป็นต่อชีวิตทุกคน และจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แม้ว่าบ้านของตนจะมีบ่อน้ำตื้นอยู่ข้างบ้าน แต่เอามาดื่มกินหรือใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะเป็นน้ำกร่อย และบ่อน้ำตื้นที่นี่ขุดได้ลึกไม่เกิน 3 เมตร หากลึกกว่านั้นจะเป็นน้ำเค็ม

จากนั้นชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวไปดูสระน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตประปาหมู่บ้าน ซึ่งป้ายโครงการระบุว่าเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล ตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท เมื่อปี 2559 สร้างด้วยงบประมาณรวมกว่า 2 แสนบาท โดยพบการสูบน้ำ และผลิตน้ำประปาตามปกติ แต่สังเกตบริเวณโรงสูบน้ำมีท่อประปาแตกกระจาย น้ำเจิ่งนอง และไหลแรงไปตามพื้นดิน ทั้งนี้ ชาวบ้านระบุว่า ปริมาณน้ำที่มีในสระน้ำดังกล่าวมีมากเพียงพอสำหรับทั้งหมู่บ้านตลอดหน้าแล้ง แต่ทาง อบต.กลับไม่ดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขในสิ่งที่ชำรุดเสียหายให้ใช้การได้













     ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์


    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า