เกษตรกรตรังรวมกลุ่มปลูกมะเขือพวงไร้หนามส่งขาย เผยตลาดสดใสมีความต้องการสูง


  กลุ่มเกษตรกร อ.ห้วยยอด และ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง รวมตัวปลูกมะเขือพวงไร้หนามแซมในสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ส่งป้อนโรงงานแถวอีสานและตลาดทั่วไป เผยอนาคตสดใสเพราะรสชาติอร่อยและมีความต้องการสูง


วันนี้ (1 ก.ค.) กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ประมาณ 20 ราย นำโดย นางอริยา แก้วสามดวง ประธานกลุ่มพืชทางเลือกพืชเสริมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน พยายามมองหาพืชทางเลือกระยะสั้นเพื่อนำมาปลูกแซมในสวนของตนเอง เพื่อเพิ่มรายได้เข้าครอบครัว จึงรวมตัวกันปลูกมะเขือพวงไร้หนามแซมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย เพียง 4 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้ และอยู่นานถึง 4 ปี

ทั้งนี้ มะเขือพวงไร้หนามจะตัดได้ทุกๆ 15 วัน ครั้งละกว่า 200 กิโลกรัม ส่งขายทั้งในตลาดทั่วไปในราคาประมาณกิโลกรัมละ 30-50 บาท และยังมีรถเดินทางมารับนำไปส่งโรงงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทางกลุ่มได้ทำ MOU กับทางโรงงานในราคาประกันกิโลกรัมละ 13 บาท เพื่อนำไปแปรรูปทำแกงเขียวหวานสำเร็จรูป หรือแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ และอบแห้งส่งขายในตลาดต่างประเทศ ทำให้ตลาดของมะเขือพวงไปได้ดีเพราะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ


ป้าอ้อย หรือนางกัณหา ทองอ่อน ชาวสวนในพื้นที่หมู่ที่ 12 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้สั่งต้นกล้าพันธุ์มาจากจังหวัดขอนแก่นในราคาต้นละ 10 บาท และใช้วิธีการปลูกแบบปลอดสารเคมี คือ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แต่จะใช้ผงพะโล้ เหล้าขาว น้ำส้มสายชู ยาเส้น หมักทิ้งไว้ 3 คืน แล้วนำไปผสมน้ำ ก่อนนำมาฉีดพ่นไล่หนอน รวมทั้งยังใช้ปุ๋ยคอกหมักเองด้วย ทั้งนี้ นอกจากทางกลุ่มจะปลูกมะเขือพวงไร้หนามแล้ว ยังปลูกพืชผักอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พริก ผักบุ้งแก้ว มะเขือ มะเขือพวง และมะเขือเทศสีดา ซึ่งต่างมีรสชาติจะหวานอร่อยกว่าพืชผักในท้องตลาดทั่วไป

ด้าน นางอริยา แก้วสามดวง ประธานกลุ่มพืชทางเลือก พืชเสริมในสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า เดิมทีเกษตรกรที่โค่นยางพาราหรือโค่นปาล์มน้ำมันใหม่ๆ จะไม่มีรายได้เข้ามา จึงเริ่มศึกษาเพื่อหาทางส่งเสริมให้ปลูกพืชระยะสั้น และต้องการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ จึงเห็นว่ามะเขือพวงไร้หนามที่สถาบันแม่โจ้วิจัยออกมา ปลูกง่าย ติดผลเร็ว ให้ผลดก มีรสชาติดีกว่ามะเขือพวงทั่วไป และเป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้เปิดเวทีและร่วมลงนามทำบันทึกข้อตกลง (MOU) โดย นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง แล้วพากลุ่มเกษตรกรไปศึกษาดูงานที่โรงงานในจังหวัดขอนแก่น แล้วกลับมาปลูกกัน

ปัจจุบัน ทางกลุ่มมีสมาชิก 20 ราย มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณ 100 ไร่ ซึ่งหลังปลูกมะเขือพวงไร้หนามได้ไม่นาน ก็เจอกับวิกฤตโควิด-19 แต่โชคดีที่กลุ่มได้ทำ MOU ไว้กับทางโรงงาน จึงยังคงรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 13-25 บาท ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มกำลังหาแนวทางส่งเสริมเพิ่มพื้นที่การปลูก พร้อมทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ประมาณ 4-5 แสนบาท เพื่อทำโรงอบแห้งมะเขือพวง เพราะทางโรงงานจะรับซื้อในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่น่าสนใจ












    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า