โควิด-19 ทำพิษ! กุ้งราคาตกหนักในรอบ 30 ปี เกษตรกรตรังเดือดร้อนหนัก


  เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.ตรัง เดือดร้อนหนัก จากราคาที่ตกลง กก.ละ 20 บาท เผยแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี สาเหตุเกิดจากโควิด-19 ทำให้ตลาดและโรงงานต้องปิดหรือลดกำลังผลิต ส่วนความต้องการลดลงมาก


วันนี้ (25 ส.ค.) นายจิตรพงษ์ ศิริพันธ์ อายุ 45 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ชาว ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กำลังเร่งจับกุ้งเป็นขายให้แก่ห้องเย็นที่เดินทางไปรับซื้อถึงหน้าบ่อ ตามขนาดและราคาที่ตกลงกัน โดยเฉลี่ยกุ้งเป็น ขนาด 68-69 ตัว จะมีราคากิโลกรัมละ 134 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่จะขายได้ราคากิโลกรัมละ 155 บาท ทำให้ขณะนี้เกิดวิกฤตราคากุ้งอีกครั้ง จนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเดือดร้อนหนักเพราะขายได้ไม่คุ้มทุน

ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ตลาดนัดโดยทั่วไปต้องปิดบ้าง หรือถึงเปิดก็ไม่มีคน ขณะที่พ่อค้าแม่ค้างดการรับซื้อ ส่วนร้านอาหารปิด ตลาดค้ากุ้งปิด และโรงงานอุตสาหกรรมก็ขาดทุน ทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน หรือลดจำนวนแรงงานตามมาตรการสาธารณสุข อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนต้องปิดเนื่องจากคนงานติดเชื้อ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ขณะที่ปัจจัยการผลิตทุกประเภทมีราคาสูงขึ้น


ด้าน นายสถิต ศิริพันธ์ อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นพ่อค้ากุ้ง กล่าวว่า ปัญหาราคากุ้งตกต่ำหนักเกิดขึ้นต่อเนื่องมาแล้ว 2 เดือน ถือว่าหนักมากที่สุดในรอบ 30 ปี เพราะไม่มีพ่อค้า แม่ค้าจึงถูกกดราคา โดยราคาขายตอนนี้ผู้ซื้อเป็นคนกำหนดราคา เพราะไม่มีตลาดแต่ต้องขายเพื่อเลี้ยงคนงานกว่า 10 คน ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือเกษตรกรคงอยู่ไม่ได้ วอนขอรัฐช่วยเหลือเรื่องลดต้นทุนการผลิต และสนับสนุนสายพันธุ์ที่เลี้ยงในระยะสั้น

แต่ที่ประสบคือ รัฐไม่จริงใจ ให้อะไรมาจะมีข้อแม้มาก เช่น โครงการช่วยเหลือเงินทุนจากธนาคาร วงเงินรายละ 3 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขให้เฉพาะพื้นที่เช่าไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อมาลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ต้องเป็นที่ดินเช่าเท่านั้น ไม่ใช่ที่ดินตนเอง ถ้าเป็นเช่นนั้นใครจะกล้าลงทุนกับที่ดินเช่า เพราะไม่คุ้มและเป็นของคนอื่น ทำไมไม่ให้เป็นวงกว้าง ให้เจ้าของที่มีดินของตนเองก็ได้ จึงถือว่ารัฐไม่จริงใจในการแก้ไขช่วยเหลือ

ส่วน นายเจริญ หยงสตาร์ อายุ 63 ปี ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูง แต่โดยภาพรวมมีราคาตกลงไปกิโลกรัมละ 20 บาท เกษตรกรต้องประสบภาวะขาดทุน ถ้านานไปคงต้องเลิกเลี้ยง สาเหตุมาจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะการบริโภคภายในประเทศลดลง ตลาดนัด ตลาดการค้าปิดหมด หายไปหมด ส่วนห้องเย็น โรงงานประสบปัญหาขาดทุน และต้องปิดตัวเพราะคนงานติดเชื้อ โดยเฉพาะโรงงานภาคใต้ปิดไปหลายโรงงาน เช่น สงขลา สุราษฎร์ฯ

ทำให้กุ้งเป็นซึ่งเดิมจับวันละ 20 ตัน ขณะนี้เหลือวันละ 10 ตัน เพราะคนงานต้องลดไปครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญต้นทุนการผลิตสูงมาก ทั้งค่าอาหาร เชื้อเพลิง ไฟฟ้า คนงาน เช่น กุ้งขนาด 100 ตัว/กิโลกรัม ต้นทุนอยู่ที่ 117 บาท ขนาด 70 ตัว ต้นทุนอยู่ที่ 130 บาท ขนาด 50 ตัว ต้นทุนอยู่ที่ 160 บาท ผู้เลี้ยงจึงอยู่ไม่ได้ ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยลดดอกเบี้ย รวมทั้งเข้ามาดูแลเรื่องลดค่าปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรอยู่ได้





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จจัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า