ชาวบ้านน้ำผุดสืบสานจักสานต้นคลุ้มบ้านเขาโหรง อนุรักษ์สืบต่อยาวนานนับ 100 ปี


 กลุ่มชาวบ้าน ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ร่วมสืบสานผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้ม หรือต้นคล้า ที่ยาวนานมากว่า 100 ปี และมีสินค้าหลากหลายชนิดและขนาด จนได้ใบรับรองมาตรฐานจากสำนักงานอุตสาหกรรม


วันนี้ (29 ธ.ค.) ที่บ้านเขาโหรง หมู่ที่ 12 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านนำโดย นางโสรญา ช่วยชะนะ อายุ 49 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี ได้นำผู้สื่อข่าวไปดูต้นคลุ้ม หรือต้นคล้า ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณริมชายป่า ริมสวนยาง สวนปาล์ม ริมลำห้วย ลำธารต่างๆ ในชุมชน ซึ่งถือเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานนับ 100 ปี

และปัจจุบันเป็นพืชโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ชาวบ้านรักและหวงแหน รวมทั้งพึ่งพาในการดำรงชีพ โดยการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหลากหลายรูปแบบ จนเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของชุมชนแหล่งเดียวและแหล่งใหญ่ของจังหวัดตรัง คือ “กลุ่มวิสาหกิจจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี” จนได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง


สำหรับต้นคลุ้ม หรือต้นคล้า ที่สามารถตัดมาทำจักสานได้นั้นจะต้องแก่จัดเต็มที่ โดยที่ส่วนยอดจะต้องแตกกิ่งออกประมาณ 5-6 ยอด และเมื่อใช้มีดพร้าขูดบริเวณลำต้นต้องเป็นสีแดง แสดงว่าแก่จัด สามารถตัดนำมาทำจักสานได้ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มที่ยึดอาชีพทำจักสานจากต้นคลุ้ม มีประมาณ 10 ครัวเรือนกระจายอยู่ในชุมชน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.เครื่องจักสานประเภทที่คงรูปแบบเพื่อการใช้งานจริงตามวิถีชีวิตท้องถิ่นชนบทดั้งเดิม หรือเป็นของใช้ในครัวเรือนตามท้องไร่ท้องนา เช่น ข้อง นาง กระด้ง สุ่ม ไซดักปลา ตะกร้า คานหาบ ชะลอม กระเช้า รังไก่ ตะกร้าบรรจุหญ้า เป็นต้น

2.เครื่องจักสานประเภทย่อส่วนเล็กลงจากของใช้ในครัวเรือนตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และปรับแต่งลวดลายแปลกใหม่ เหมาะกับการเป็นของฝากของที่ระลึก และของประดับตกแต่งบ้าน ตกแต่งร้าน รวมทั้งทำโคมไฟ ถ้วยเยติ ตะกร้าใส่ขนม ของไหว้สำหรับขบวนแห่ขันหมาก เป็นต้น โดยสมาชิกที่มีประมาณ 10 ครัวเรือนนั้นส่วนใหญ่เป็นคุณย่า คุณยาย แต่ละรายนั่งทำจักสานอยู่กับบ้านตามออเดอร์ของลูกค้าที่จะมีลูกหลานช่วยขายตามช่องทางต่างๆ รวมทั้งทำป้อนส่งให้กลุ่มสินค้าโอทอปของชุมชนเอง


นางโสรญา ช่วยชะนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี บอกว่า ผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้ม 100 ปี มีหลากหลายทั้งประเภทชนิดและขนาดไม่ต่ำกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ใช้งานได้จริง และขนาดย่อส่วนเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึก ประดับ ตกแต่ง เนื่องจากทุกหมู่บ้านของตำบลน้ำผุด มีสภาพพื้นที่อยู่ติดภูเขา สภาพอากาศจึงชุ่มชื้นตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเจริญเติบโตต้นคลุ้ม ชาวบ้านจึงยึดอาชีพทำหัตถกรรมจักสานจากต้นคลุ้มสืบต่อกันมา และมีมากเพียงพอที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกยาวนาน เพราะได้มีการอนุรักษ์จัดสรรพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม

ส่วนผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะนำไปวางจำหน่ายตามร้านค้าชุมชน ร้านของที่ระลึก ทั้งในอำเภอเมืองตรัง และอำเภอนาโยง รวมทั้งจำหน่ายออนไลน์ ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบ ความยากง่าย และลวดลายที่สวยงามแตกต่างกัน ตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพัน สูงสุดคือ ตะกร้า ใบละ 2,500 บาท สร้างรายได้ให้สมาชิกรายละประมาณ 5,000-8,000 บาทต่อเดือน ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก “จักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี” หรือโทร.08-6277-8275








ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า