ผู้ว่าฯ ตรังสั่งสอบหมูตายเพียบในหลายฟาร์ม เจอเชื้อ ASF ปศุสัตว์แย้งไม่จริง


  ผู้ว่าฯ จ.ตรัง สั่งให้นายอำเภอห้วยยอด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหมูล้มตายจำนวนมากในหลายฟาร์ม บางฟาร์มนำเลือดส่งตรวจผลพบติดเชื้อ ASF ขณะที่ปศุสัตว์แย้งไม่เป็นจริง


จากกรณีที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่า ในห้วงตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2564 พบหมูในฟาร์มหลายแห่งใน จ.ตรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.รัษฎา และ อ.ห้วยยอด ล้มตายลงเป็นจำนวนมากกว่า 3,000 ตัว ในลักษณะของการเกิดโรคระบาด โดยมีบางฟาร์มที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปเก็บตัวอย่างเลือดหมู พร้อมระบุว่าหมูเป็นโรคระบาด และสั่งการให้เจ้าของฟาร์มเร่งฝังทำลายหมูทั้งหมด โดยมีการกำกับควบคุมอย่างใกล้ชิด ป้องกันการเคลื่อนย้ายสัตว์ แต่ไม่มีการรายงานให้ทางจังหวัดตรังได้รับทราบ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อควบคุมพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร และห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ จนเป็นผลทำให้โรคระบาดดังกล่าวลุกลามไปยังฟาร์มอื่นๆ ทำให้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ขณะที่ทางปศุสัตว์จังหวัดตรัง ยืนยันว่า ใน จ.ตรัง ไม่เคยเกิดโรคระบาดมาก่อน แต่หมูที่ตายในฟาร์มเกิดจากการที่เจ้าของฟาร์มมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยเข้ามา โดยไม่ได้มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ แต่ในที่นี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าฟาร์มหมูที่จำหน่ายหมูให้แก่เกษตรกรที่พบโรคระบาดนั้นมีหมูตายแต่ประการใด และต่อมา ทางจังหวัดได้ส่งผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมลงตรวจสอบในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ได้มีผลตรวจยืนยันจากห้องแล็บของเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ยืนยันผลตรวจตัวอย่างเลือดหมูที่ตายในฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด ระบุว่าติดเชื้อ ASF นั้น


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า กรณีข่าวหมูตายในพื้นที่ อ.ห้วยยอด มีผู้เลี้ยงสุกรอยู่ประมาณ 7-8 ราย และเท่าที่ได้รับทราบรายงานจากปศุสัตว์จังหวัดในเบื้องต้นว่า มีผู้ขออนุญาตเคลื่อนย้ายสุกรเพียง 2 รายเท่านั้น แต่ในที่นี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย (ฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายเกษตรกร) ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ทางนายอำเภอห้วยยอด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา 1 ชุด โดยมีนายอำเภอห้วยยอด เป็นประธาน รวมทั้งมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งปศุสัตว์อำเภอ ท้องถิ่นอำเภอ นิติกรของจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม ร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยขอให้รีบรายงานประเด็นต่างๆ มาที่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเคลื่อนย้ายสุกร รวมทั้งประเด็นการตรวจว่าพบโรคหรือไม่ โดยกรรมการชุดดังกล่าวจะลงไปตรวจสอบในพื้นที่เลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร ในการเคลื่อนย้ายทำได้ถูกต้องหรือไม่ หรือกรณีที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยง เอาหมูไปฝังมีเชื้อโรค ASF ให้รีบดำเนินการ และเร่งรายงานมายังจังหวัด

ส่วนที่เกษตรกรระบุว่า ฟาร์มแรกที่สุกรตายนั้นมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบ แล้วมีการเก็บตัวอย่างเลือด รวมทั้งเจ้าหน้าที่สั่งให้เร่งฝังหมูทั้งหมดอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหมูเป็นโรคระบาด โดยเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับควบคุมการฝังกลบ แต่ไม่มีการรายงานทางจังหวัด และเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออกประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาดในหมู เพื่อควบคุมพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร และควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ จะมีการตรวจสอบในประเด็นนี้ด้วยหรือไม่


ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ประเด็นนี้ชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงจะต้องรายงานตนเองมา แต่ในเบื้องต้นทางปศุสัตว์จังหวัดตรัง รายงานมาว่าได้รับรายงานจากปศุสัตว์อำเภอห้วยยอดแล้วว่าไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ในห้วงเดือนมกราคม ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่ที่พูดถึงกันคือ ในกรณีของการระบาดก่อนสิ้นปี คือเดือนกันยายนถึงธันวาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า เดี๋ยวเรื่องนี้จะต้องรอรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ส่วนกรณีที่จังหวัดตรัง เป็นจังหวัด 1 ใน 52 จังหวัดที่เกษตรกรจะรับเงินเยียวยากรณีเกิดโรคระบาดด้วยนั้น มีกี่ราย และเป็นเงินเท่าไหร่ จะต้องรอข้อมูลจากทางปศุสัตว์รายงานมาที่จังหวัด สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าปศุสัตว์จะไม่ให้เงินเยียวยาใดๆ แก่เกษตรกรที่ออกให้สัมภาษณ์ข่าวกับสื่อมวลชน ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวปฏิเสธบอกว่าไม่เป็นความจริง เรื่องนี้จะต้องดูตามข้อเท็จจริง จะต้องดูตามหลักเกณฑ์การชดเชย ถ้าอยู่ในหลักเกณฑ์การชดเชยจะชดเชยให้ ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝ่ายเจ้าหน้าที่





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า