ชาวบ้านตรังหันเลี้ยง “หมูหลุมแบบประยุกต์” แก้โรคระบาดตายยกคอก ลดต้นทุนเพิ่มรายได้


ศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมบ้านหนองสองพี่น้อง จ.ตรัง หันมาเลี้ยงหมูหลุมแบบประยุกต์ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ แก้ปัญหาเชื้อระบาดในฟาร์มจนหมูตายยกคอก แถมยังเอามูลไปทำปุ๋ยขายได้ราคาดี

วันนี้ (27 ม.ค.) ศูนย์วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงหมูหลุมบ้านหนองสองพี่น้อง หมู่ที่ 5 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งมี นายประพันธ์ วิมลเมือง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.หนองช้างแล่น เป็นประธานกลุ่ม ได้นำผู้สื่อข่าวดูวิธีการเลี้ยงหมูหลุมแบบประยุกต์ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรค ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน เดิมกระจายกันเลี้ยง แต่พอได้ข่าวว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ หลายคนเลิกเลี้ยงเพราะกลัวจะเกิดโรค แต่ในส่วนของตนเองยังเลี้ยงต่อ เพราะคิดว่าโรคระบาดที่ฟาร์มหลายแห่งเชื้อน่าจะมาจากเจ้าของหมูไปซื้อหมูติดเชื้อมากิน จากนั้นเมื่อเหลือเป็นเศษอาหารคงนำไปให้หมูกินต่อ ทำให้เชื้อระบาดขึ้นในฟาร์ม

ดังนั้น ส่วนตัวจะไม่เอาเศษอาหารที่เหลือมาให้หมูกินอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และเน้นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยจะเอาต้นไม้ พืช ผักข้างบ้าน โดยเฉพาะต้นกล้วยมาตัดใส่ให้หมูกัดกินทั้งต้น เพราะส่วนตัวคิดว่าต้นกล้วยมีจุลินทรีย์และมีความฝาด จะทำให้โรคท้องร่วงหรือโรคอหิวาต์ไม่ค่อยมี และในต้นกล้วยจะมีใยอาหารและไฟเบอร์มาก ทำให้ระบบขับถ่ายของหมูดี ไม่เป็นการถ่ายเหลว ซึ่งตั้งแต่ตนเองปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบหมูหลุมประยุกต์ ผ่านมา 3 ปี หมูไม่เคยป่วยและไม่เคยเสียเงินฉีดวัคซีนเลย


ส่วนการประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้นั้น ตนเองจะใช้วิธีการซื้อวัตถุดิบมาผสมเอง เพราะประสบปัญหาราคาอาหารหมูที่แพงขึ้นมาก จากเดิมกระสอบละ 430 บาท เป็นกระสอบละ 570 บาท ซึ่งหมูแต่ละตัวต้องกินอาหารประมาณ 7-8 กระสอบ แต่เมื่อตนเองซื้อวัตถุดิบมาเลี้ยงเอง จะสามารถประหยัดต้นทุนได้ประมาณกระสอบละ 70-80 บาท โดยหมูที่ตนเลี้ยงไว้ครั้งละประมาณ 20-30 ตัว เดิมมีลักษณะเป็นหมูหลุมเหมือนเกษตรกรทั่วไป เพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยหมัก แต่หมูมักจะประสบปัญหาป่วยบ่อย เป็นหวัด เป็นโรคปอด และตาย หรือไม่ทนต่อโรค ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน และจากการที่ต้องอาบน้ำล้างคอกบ่อย ทำให้คอกชื้นส่งผลให้หมูป่วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา หรือประมาณ 3 ปีมาแล้ว ที่ตนได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบหมูหลุมประยุกต์ ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากปศุสัตว์ จึงนำเปลือกมะพร้าวมาสับเพื่อทำเป็นวัสดุรองพื้น โดยเปลี่ยนทุกๆ 2 เดือน ซึ่งเปลือกมะพร้าวจะช่วยดูดความชื้นภายในคอก ประหยัดต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟ

ส่วนมูลที่ได้เอามาทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจำหน่าย โดยหมู 20-30 ตัว สามารถนำมูลมาผลิตปุ๋ยได้เดือนละ 1,000-2,000 กระสอบ ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 2 บาท บรรจุ 6 กิโลกรัม ราคาถุงละ 15 บาท และบรรจุ 25 กิโลกรัม ราคาถุงละ 50 บาท ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้วหมู 1 ตัวที่เลี้ยงไว้จะสามารถเอามูลมาทำปุ๋ยขายสร้างรายได้เสริมเกือบ 2,000 บาท




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า