เปิดหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง ขอจองซื้อ “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมฉีด 5.2 หมื่นราย


 เปิดรายละเอียดหนังสือผู้ว่าฯ จ.ตรัง ขอจองซื้อ “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมฉีด 5.2 หมื่นราย แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม 1.2 หมื่นราย และอีก 4 หมื่นราย เป็นภาคการท่องเที่ยว ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ครู และราชการด่านหน้า


ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ภายหลังเกิดคลัสเตอร์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้นในโรงงานผลิตถุงมือยางของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ ต.บางหมาก อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งต้องทำการตรวจหาเชื้อ Swap พนักงานกว่า 1,600 คน โดยมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมยอดตั้งแต่วันที่ 29-30 พฤษภาคม มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวน 120 รายแล้ว สำหรับคลัสเตอร์โรงงานได้มีมาตรการของจังหวัดตรัง โดยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะปรานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดตรัง ได้มอบหมายดำเนินการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ โดยหากมีผู้ป่วยจากโรงงานก็จะรับเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม และเข้าระบบรักษาตามปกติ มีการประกาศปิดโรงงานจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

ในส่วนที่ผู้ต้องกักกันทางโรงงานจะรับผิดชอบการดำเนินการ แบ่งเป็นมี 4 ส่วน คือ 1. กักในพื้นที่โรงงาน โดยมีบ้านพักจุประมาณ 500-600 คน สำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ 2. กักภายในโรงงาน อาทิ โกดัง พื้นที่โรงอาหาร พื้นที่สำนักงาน จะใช้เป็นสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ ประมาณ 300 คน 3.ใช้ในโรงแรมอีโค่อินน์ อ.เมืองตรัง และ 4.โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมืองตรัง เป็นสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่ตรวจพบเป็นลบ ทั้งนี้ ผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานถุงมือทั้งสิ้น 1,579 คน เป็นชาวเมียนมา 291 คน เป็นคนงานชาวไทยที่อยู่ต่างจังหวัด 208 คน ที่เหลือ 1,082 คน เป็นชาว จ.ตรัง ที่กระจายอยู่ใน อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง และ อ.เมืองตรัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะปรานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดตรัง ได้ลงนามในหนังสือที่ ตง 0032/5874 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เรื่อง ขอความอนุเคราะห์จองซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยอ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของ จ.ตรัง โดยเฉพาะการระบาดของคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่ง จ.ตรัง มีประชากรทั้งหมด 640,574 คน คิดเป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีน 488,993 คน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ประกอบกับโรงเรียน และสถานศึกษาที่จะเปิดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จ.ตรัง จึงมีความจำเป็นที่จะจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

“เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และแนวทางในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว จ.ตรัง ได้จัดประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับนายกองค์การบริหารจังหวัดตรัง (นายก อบจ.ตรัง) ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตรัง และตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยที่ประชุมเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 52,000 คน สำหรับกลุ่มบุคคลดังนี้ 1. บุคลากรด่านหน้า/บุคลากรทางการศึกษา อาทิ ผู้พิพากษา/อัยการ ตำรวจ ครู เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สมาชิกอาสารักษาดินแดน เจ้าหน้าที่ภาคขนส่งสาธารณะ/ธุรกิจ/ท่องเที่ยว กู้ภัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ฯลฯ จำนวน 40,000 คน และ 2. สำหรับภาคอุตสาหกรรม จำนวน 12,000 คน” หนังสือระบุ

ในหนังสือระบุอีกว่า ทั้งนี้ จ.ตรัง ได้จัดเตรียมฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลเป็นการเฉพาะ แยกจากการฉีดวัคซีนตามระบบปกติที่จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล รวมทั้งจัดเตรียมระบบฐานข้อมูลเพื่อลงทะเบียนผู้ฉีดวัคซีนให้ตรงกับทะเบียนที่ได้รับจากการจัดซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว











    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า