ชาวบ้านตรังงัดภูมิปัญญาพื้นบ้านปั้นเตาดินใช้เองไม่สนแก๊สแพง


 ชาวบ้านตรังงัดภูมิปัญญาพื้นบ้านปั้นเตาดินใช้เอง และนำเศษไม้ ไม้ฟืน กะลามะพร้าว เศษกระดาษ หรือน้ำมันเหลือใช้ มาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ติดไฟง่าย ใช้งานได้จริง แข็งแรง ทนทาน ไม่ง้อแก๊ส ประหยัดค่าแก๊สหุงต้ม


วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่บ้านเลขที่ 94/1 หมู่ที่ 6 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายเปลื้อง ช่วยรุย อายุ 52 ปี ชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน นำดูเตาดินที่ตัวเองได้ปั้นขึ้นเองตามความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณ รวมทั้งได้จากการเดินทางไปพบเห็นและศึกษาจากยูทูบ เพื่อนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ใช้เองในครัวเรือน โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้และขยะที่เกิดขึ้นในครัวเรือนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำกับข้าวเพื่อประหยัดค่าแก๊สหุงต้ม

ทั้งนี้ นายเปลื้อง บอกว่า ตัวเองเคยใช้เตาถ่านหรือเตาอั้งโล่มาตั้งแต่ต้น โดยซื้อมาจากตลาด แต่พบว่ามันพังง่าย จึงพยายามคิดค้นหาวิธีการทำเตาดินใช้เองมานานแล้ว จนกระทั่งเมื่อประมาณเดือนเศษที่ผ่านมา เห็นว่าแก๊สหุงต้มปรับราคาสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ตกถังละ 300-400 บาท ทำชาวบ้านบ่นกันอื้ออึง ตนจึงปรับวิธีการปั้นเตาดินใหม่ พร้อมกับปล่องระบายควันไฟที่แข็งแรง ทนทาน แต่สามารถใช้งานได้จริง โดยนำกะลามะพร้าว น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว น้ำมันเครื่องเก่า ไม้ฟืน เศษขยะ เศษไม้ไผ่ กิ่งไม้ข้างบ้าน กระดาษชำระ หรือกระดาษลังที่ส่งมากับการสั่งของออนไลน์ มาทำเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งหลังก่อไฟขึ้นมาแล้วสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง รวมทั้งปิ้งย่าง


โดย นายเปลื้อง กล่าวว่า เตาดินที่ตนปั้นใช้เองนี้ลงทุนน้อย ประหยัดกว่าเตาของกระทรวงพลังงาน และสามารถปั้นให้ใหญ่ใช้กับกระทะใบบัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งสามารถประหยัดแก๊สได้มาก ไม่ต้องไปเติมบ่อย สำหรับส่วนประกอบสำคัญของเตาดินดังกล่าว คือ 1.ดินร่วนปนทราย หรือทรายถม ปริมาณ 3 ส่วน ซึ่งทรายจะทำให้เกิดความร้อนได้เร็ว และอมความร้อน 2.ดิน จำนวน 1 ส่วน 3.อิฐแดง ก้อนละ 5 บาท จำนวน 50 ก้อน รวม 250 บาท ไว้สำหรับทำเป็นโครงผนังด้านใน 4.อิฐบล็อกที่มีนำมาทุบเป็นก้อนเล็กๆ และ 5.ปล่องซีเมนต์ใช้สำหรับเป็นปล่องระบายควันไฟ ราคาประมาณ 300-400 บาท รวมลงทุนประมาณ 700 บาทเท่านั้น

ส่วนวิธีการทำคือ นำดินและทรายมาผสมคลุกเคล้ากันจนเหนียว จากนั้นนำไปปั้นเป็นเตา โดยใช้อิฐแดงจัดวางทำเป็นผนังด้านใน ส่วนของอิฐบล็อกที่มีอยู่นำมาทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ เพื่อนำวางผสานรอบๆ เตาเป็นชั้นๆ ขณะปั้น เพื่อให้เตาแข็งแรง ทนทาน จากนั้นต่อปล่องไฟขึ้นด้านบนเหนือหลังคาเพื่อระบายควัน พร้อมทั้งยังก่อดินทำเป็นช่อง สำหรับดับถ่านไฟขึ้นเองอีกด้วย สำหรับประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเตาดินดังกล่าว สามารถสอบถามได้ที่โทร.08-9645-5073

ด้าน นายเปรม ช่วยรุย อายุ 78 ปี พ่อของนายเปลื้อง กล่าวว่า สมัยของตนหรือสมัยก่อน ชาวบ้านจะหุงข้าว หุงหาอาหารด้วยไม้ฟืนที่หาได้เองข้างบ้าน หรือในสวน ไม่ต้องไปสิ้นเปลืองใช้แก๊ส โดยการใช้ก้อนหินจัดวางทำเป็นเตา และใช้ไม้ฟืน ต่อมาเกิดเตาถ่าน หรือเตาอั้งโล่ ก็ใช้ถ่านที่หาได้เองจากข้างบ้าน โดยการนำไม้มาเผาในหลุม แล้วปิดทับด้วยแกลบจะได้ถ่านใช้หุงข้าว ต่อมาความเจริญเข้าถึง มีเตาแก๊ส ถังแก๊ส หุงข้าวกับหม้อไฟฟ้า เตาไฟฟ้า แต่ตอนนี้ไฟฟ้าแพง แก๊สแพง ก็ต้องหันกลับมาใช้ภูมิปัญญาเก่าๆ ที่โบราณใช้กัน จะได้ประหยัด ไม่ต้องเสียเงินซื้อแก๊ส












    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ผู้จัดการออนไลน์

    แสดงความคิดเห็น

    ใหม่กว่า เก่ากว่า